ASEAN SHINE มาตรฐานฉลากประหยัดไฟ ระหว่างอาเซียนและสหภาพยุโรป
เปิดอ่าน 589
[14 พ.ย.] อาเซียนและสหภาพยุโรปวางมาตรฐานฉลากประหยัดไฟร่วมกันหรือ “ASEAN SHINE” คาดจะช่วยประหยัดพลังงานได้ถึง 21,500 ล้านบาท
อาเซียน-สหภาพยุโรป หรืออียู ร่วมมือศึกษามาตรฐานด้านประสิทธิภาพทางพลังงาน เพื่อใช้ร่วมกัน หรือ "ASEAN SHINE " โดยอียูสนับสนุนวงเงินศึกษา 1.749 ล้านยูโร เป็นสัดส่วนร้อยละ 80 ของเงินทุนทั้งหมดที่ใช้ในโครงการ มีระยะเวลาโครงการ 4 ปี (ปีค.ศ.2013-2016) รวมทั้งลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดภาวะโลกร้อน ล่าสุดครึ่งแรกปีนี้ไทยปล่อยเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3
นายทวารัฐ สูตะบุตร รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กล่าวว่า ASEAN SHINE จะช่วยยกระดับประสิทธิภาพของเครื่องใช้ไฟฟ้า และนำไปสู่โอกาสในการผลิตและจำหน่ายสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีมาตรฐานด้านการประหยัดพลังงานระดับเดียวกันทั้งภูมิภาคจะช่วยให้เกิดความต้องการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ประหยัดพลังงาน และช่วยเพิ่มการประหยัดพลังงานได้มากกว่า 5,373 กิโลวัตต์ชั่วโมง คาดว่าจะช่วยประหยัดพลังงานได้ถึง 21,500 ล้านบาท และนำไปสู่การกระตุ้นการค้าในอาเซียนได้มากถึงร้อยละ 4.55 นอกจากนี้ยังช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อนที่เกิดจากการใช้พลังงานอีกด้วย
ทั้งนี้ มาตรฐานจะเริ่มจากเครื่องปรับอากาศเป็นอันดับแรก เนื่องจากปริมาณการใช้ไฟฟ้าในอาเซียนประมาณร้อยละ 50 มาจากการใช้ไฟฟ้าจากเครื่องปรับอากาศ โดยที่ผ่านมามาตรฐานที่กำกับประสิทธิภาพทางด้านพลังงานของเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นนั้นมีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศของอาเซียน
นายทวารัฐ กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยนับว่าเป็นผู้นำในมาตรฐานเครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดพลังงานอันดับ 1 ของอาเซียน มีการใช้มาตรฐานฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 (HEPS) ซึ่งสามารถประหยัดไฟฟ้าได้มากกว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วไปถึงร้อยละ 30 ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนหลายประเทศยังคงใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีมาตรฐานประหยัดไฟในระดับที่ต่ำกว่าหรือไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าว ซึ่งเมื่อ ASEAN SHINE เริ่มใช้ ก็จะทำให้สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า ในอาเซียนมีมาตรฐานในระดับเดียวกับไทย และผู้บริโภคจะไม่สับสนกับฉลากประหยัดพลังงานของเครื่องใช้ไฟฟ้าอีกต่อไป โดยมาตรฐานการประหยัดพลังงานเครื่องใช้ไฟฟ้าที่จะถูกนำมาใช้จะอยู่ภายใต้มาตรฐานสากล คือ ISO5151 เวอร์ชั่น 2010 ขึ้นไป สำหรับเครื่องปรับอากาศก็จะต้องมีค่า EER มากกว่า 3.2 ขึ้นไป
ด้านนายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จากสถิติการใช้พลังงานในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-มิ.ย.2556) พบว่ามีการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นทุกประเภท ส่งผลให้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 โดยปล่อย รวม 120.23 ล้านตัน เชื้อเพลิงหลักที่มีสัดส่วนการปล่อยสูงสุดคือ ภาคการผลิตไฟฟ้าร้อยละ 41 ภาคขนส่งร้อยละ 27 ภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนร้อยละ 23 และภาคเศรษฐกิจอื่นๆ มีการปล่อยร้อยละ 9
“หากเปรียบเทียบการปล่อยก๊าซ CO2 ของประเทศไทยกับต่างประเทศ จากค่าเฉลี่ยในปี 2553 จะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซ CO2 ที่ระดับ 0.553 กิโลกรัม CO2 ต่อ 1 กิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) สูงกว่าประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปและประเทศสหรัฐที่มีการปล่อย CO2 เพียง 0.331-0.522 กิโลกรัม CO2 ต่อ 1 กิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) เนื่องจากกลุ่มอียูและประเทศสหรัฐ มีการใช้นิวเคลียร์เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าที่ไม่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซ CO2ซึ่งในส่อนของไทยเราต้องร่วมกันรณรงค์ประหยัดพลังงานต่อเนื่อง" นายเสมอใจ กล่าว.-สำนักข่าวไทย