19 วิธีออกแบบ ป้องกันบ้านร้อน ประหยัดค่าแอร์
เปิดอ่าน 1,845
สภาพอากาศที่ร้อนจัดในช่วงนี้ ทำให้ความร้อนเข้าสู่ตัวบ้านมากขึ้น เครื่องปรับอากาศต้องทำงานหนัก แทบทุกบ้านเปิดเครื่องปรับอากาศนานขึ้น ปรับลดอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศ เพื่อเพิ่มความเย็นมากขึ้น เพราะต้องการให้อุณหภูมิภายในบ้านมีภาวะน่าสบาย แต่พฤติกรรมการบริโภคดังกล่าวกลับเป็นการสิ้นเปลืองพลังงาน สวนทางกับการอยู่อาศัยในวิถีสีเขียว ที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมดังนั้นหลายๆ คนจึงพยายามหาสารพัดวิธีเพื่อป้องกันบ้านร้อน หรือลดความร้อนให้แก่ตัวบ้าน เพื่อให้บ้านมีภาวะน่าสบาย มีอุณหภูมิที่เหมาะสมกับการอยู่อาศัย โดยไม่สิ้นเปลืองพลังงานและค่าไฟฟ้า ทั้งยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
19 วิธีป้องกันบ้านร้อน ดังต่อไปนี้
น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการลดความร้อนให้แก่บ้านที่อยู่อาศัยได้ ลองมาดูกัน
วิธีที่ (1) ควรออกแบบบ้านโดยวางตัวบ้านขวางทางทิศเหนือ-ใต้
วิธีที่ (2) ออกแบบแปลนบ้านแบบเปิดโล่ง ลดผนังที่ใช้กั้นห้องต่างๆ ช่วยให้บ้านมีการระบายอากาศที่ดี ลมที่ผ่านเข้ามาภายในบ้านจะไหลเวียนดีขึ้น บ้านก็จะร้อนน้อยลง
วิธีที่ (3) ห้องที่มีการใช้งานน้อย ควรออกแบบให้ตั้งอยู่ในทิศตะวันตก เพื่อใช้เป็นแนวกันความร้อนให้แก่บ้าน
วิธีที่ (4) ที่จอดรถ ลานซักล้างหรือพื้นผิวที่เป็นคอนกรีตไม่ควรอยู่เหนือลม เพราะลมจะพัดเอาความร้อนที่สะสมอยู่ในพื้นคอนกรีตเข้าสู่บ้าน
วิธีที่ (5) หลังคาไม่ควรมีสีเข้ม เพราะสะสมความร้อน และควรมีความลาดชันประมาณ 50-60 องศา เพื่อช่วยบังแดดให้แก่หลังคาอีกด้าน
วิธีที่ (6) ผนังของบ้านด้านที่ได้รับแสงมาก ให้เลือกใช้วัสดุที่ไม่สะสมความร้อน ร่วมกับการใช้ฉนวนกันความร้อนที่ผนัง จะช่วยป้องกันความร้อนได้มากขึ้น
วิธีที่ (7) ผนังชนิดอื่นๆ เช่น ผนังกระจกหรือหน้าต่างที่เป็นกระจก ควรเลือกใช้กระจกชนิดฉนวนป้องกันความร้อนช่วยลดความร้อนที่เข้ามาในบ้านได้
วิธีที่ (8) บ้านที่ออกแบบให้มีช่องแสง เพื่อประหยัดไฟ ควรเจาะช่องแสงเพื่อรับแสงจากทางด้านทิศเหนือดีที่สุดจะได้แสงที่ไม่ร้อน
วิธีที่ (9) ออกแบบผนังด้านที่ได้รับความร้อนมากให้มีแผงกันแดดหรือระแนงไม้ เพื่อป้องกันความร้อนจากแสงกระทบกับผนังบ้านโดยตรง
วิธีที่ (10) การเจาะช่องระบายอากาศที่ชายคา ควรอยู่ตรงข้ามกันในทิศเหนือและใต้ เพราะมีลมพัดผ่านประจำและไม่ควรเจาะทุกด้าน
วิธีที่ (11) อย่าวางเฟอร์นิเจอร์หรือข้าวของบังทางลม เพื่อให้อากาศในห้องมีการไหลเวียนเพิ่มขึ้นและช่วยลดความร้อนลงได้
วิธีที่ (12) ตำแหน่งการติดตั้งพัดลม ควรอยู่ตรงกันข้ามกับจุดที่มีลมพัดเข้าบ้าน เพื่อควบคุมการระบายอากาศให้ดียิ่งขึ้น
วิธีที่ (13) เลือกใช้เครื่องปรับอากาศให้เหมาะกับขนาดของห้อง เพื่อไม่ให้เครื่องปรับอากาศทำงานหนักและเป็นการสิ้นเปลืองพลังงาน
วิธีที่ (14) ควรเลือกเฟอร์นิเจอร์ที่เบา โปร่ง มีสีอ่อน เฟอร์นิเจอร์ที่หนาหนัก นอกจากจะเก็บความร้อนแล้วยังสะสมฝุ่นละอองอีกด้วย
วิธีที่ (15) ใช้เฟอร์นิเจอร์ Built-In ป้องกันความร้อน โดยออกแบบให้เป็นส่วนหนึ่งของผนัง เพื่อป้องกันความร้อนจากภายนอกที่ผ่านเข้ามาอีกชั้นหนึ่ง
วิธีที่ (16) เลือกใช้ผนังเบาทำผนังภายในห้องปรับอากาศ เพราะช่วยลดความร้อนที่สะสมได้ดีกว่าผนังก่ออิฐฉาบปูน
วิธีที่ (17) ปรับสภาพแวดล้อมรอบบ้านเพื่อป้องกันความร้อน โดยปลูกต้นไม้ที่มีทรงพุ่มสูง เพื่อลดอุณหภูมิจากลมร้อนภายนอกที่พัดเข้ามาในบ้าน และยังได้ร่มเงาในการป้องกันแดดให้แก่บ้าน
วิธีที่ (18) ปลูกพืชคลุมดินแทนการเทคอนกรีตในบริเวณบ้าน อาจจะเปลี่ยนมาใช้บล็อกตัวหนอนที่สามารถปลูกหญ้าสลับได้
วิธีที่ (19) เปลี่ยนจากรั้วทึบเป็นรั้วโปร่ง เพื่อช่วยให้ลมสามารถพัดเข้าบ้านได้สะดวก โดยบางส่วนของรั้วที่เป็นคอนกรีต สามารถปลูกไม้เลื้อยเพื่อช่วยลดความร้อนที่รั้วบ้านได้