แนวโน้มตลาด เครื่องปรับอากาศในประเทศปี 2556
เปิดอ่าน 2,395
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ภาพรวมของมูลค่าเครื่องปรับอากาศในประเทศปี 2556 จะมีมูลค่าประมาณ 24,230-25,700 ล้านบาท หรือมีมูลค่าขยายตัวประมาณ 14.2-21.1% และมีปริมาณการจำหน่ายเครื่องปรับอากาศ 1.5-1.6 ล้านเครื่อง หรือขยายตัว 10.7-17.4% อย่างไรก็ดี อัตราการขยายตัวดังกล่าว ต่ำกว่าปีที่ผ่านมา ที่ขยายตัว 27.2% สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากฐานที่สูงในปี 2555 ซึ่งเป็นผลจากแรงหนุนที่สำคัญ เช่น การซื้อเพื่อทดแทนความเสียหายจากน้ำท่วมปี 2554 มาตรการบ้านหลังแรกของรัฐบาล เป็นต้น
แนวโน้มตลาดที่สำคัญสำหรับการพัฒนาสินค้าเพื่อตอบกระแสผู้บริโภค
จากสภาพการแข่งขันทางการตลาดที่รุนแรงในปัจจุบัน ทำให้ผู้ผลิตต้องมีการพัฒนาเครื่องปรับอากาศให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกเหนือจากเรื่องความเย็น เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาด เพิ่มยอดขาย และพยายามตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคให้มากที่สุด โดยเฉพาะในปัจจุบันที่กระแสการประหยัดพลังงานและการใส่ใจต่อสุขภาพกำลังเป็นปัจจัยหลักที่ผู้บริโภคในยุคนี้ให้ความสำคัญ ในด้านการประหยัดพลังงาน เครื่องปรับอากาศที่ใช้เทคโนโลยีอินเวอร์เตอร์ กำลังมีสัดส่วนการจำหน่ายเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีนี้ได้มีการใช้นานแล้วในประเทศญี่ปุ่น และกลายเป็นกฎข้อบังคับ สำหรับการจำหน่ายเครื่องปรับอากาศในญี่ปุ่นจะต้องเป็นระบบอินเวอร์เตอร์เท่านั้น
สำหรับประเทศไทยเอง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ก็ได้ทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอินเวอร์เตอร์สัญชาติไทยขึ้น และอีกเทคโนโลยีที่น่าสนใจ คือ ระบบป้องกันเชื้อโรค ซึ่งทาง สวทช. ก็ได้มีการวิจัยพัฒนาแผ่นกรองอากาศมัลติฟังก์ชั่น (iGUARD nano) ที่มีจุดเด่นในการฆ่าเชื้อโรคในระดับนาโน อีกทั้งยังสามารถตัดเป็นขนาดที่ต้องการได้ (iGUARD nano flexi) นอกเหนือจากเทคโนโลยีที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีเทคโนโลยีด้านอื่นที่น่าสนใจ คือ ความสะดวกในการใช้งาน เช่น การสั่งงานเปิด-ปิด ปรับอุณหภูมิทางสมาร์ทโฟนได้แม้ไม่อยู่บ้าน เป็นต้น เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นภายในประเทศอาจเป็นโอกาสที่ผู้ผลิตสินค้าเครื่องปรับอากาศสัญชาติไทยสามารถนำไปประยุกต์ใช้ การพัฒนาสินค้าดังกล่าวนอกเหนือจากสามารถตอบสนองความต้องการผู้บริโภคแล้ว ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้ตัวสินค้าอีกด้วย
ขอบคุณข่าวแอร์จาก : นสพ.โพสต์ทูเดย์