เครื่องปรับอากาศปี 2556 แนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง
เปิดอ่าน 1,128
สำหรับแนวโน้มโดยรวมในปี 2556 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ภาพรวมตลาดเครื่องปรับอากาศในประเทศปี 2556 นี้ น่าจะมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง สืบเนื่องจากปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญต่างๆ ดังต่อไปนี้
- แนวโน้มการเติบโตของที่อยู่อาศัยต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า
แนวโน้มที่อยู่อาศัยปี 2556 คาดว่า จะเติบโตต่อเนื่องจากปี 2555 โดยที่อยู่อาศัยใหม่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล น่าจะขยายตัวใกล้เคียงกับปีที่แล้วในระดับ 100,000 ยูนิต นอกจากนี้ สำหรับที่อยู่อาศัยตามหัวเมืองใหญ่ในต่างจังหวัด เช่น อุดรธานี ขอนแก่น และนครราชสีมา เป็นต้น ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะตลาดคอนโดมิเนียมที่เปิดตัวอย่างคึกคัก คาดว่า จำนวนห้องชุดสร้างเสร็จทั่วประเทศในปี 2556 จะมีประมาณ 80,000-85,000 หน่วย เพิ่มขึ้นเทียบกับปี 2555 ที่มี 74,100 หน่วย ซึ่งทำให้ความต้องการเครื่องปรับอากาศมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
- แนวโน้มสภาพอากาศร้อนขึ้นที่มาเร็วกว่าปกติ
จากข้อมูลกรมอุตนิยมวิทยา อุณหภูมิสูงสุดของเดือนมีนาคมปีนี้ซึ่งเป็นต้นฤดูร้อนได้ทำสถิติสูงสุดในรอบหลายสิบปีของช่วงเวลาเดียวกันในหลายพื้นที่ของประเทศ เช่น กรุงเทพฯ อุณหภูมิทำสถิติสูงสุดใหม่ที่ 40.1 องศาเซลเซียส สูงสุดในรอบ 62 ปี เป็นต้น ในขณะที่ อุณหภูมิก็ยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องไปถึงกลางเดือนเมษายน แสดงถึงสภาพอากาศที่ร้อนจัดของฤดูร้อนปีนี้ที่มาเร็วกว่าปกติ ทำให้ยอดจำหน่ายเครื่องปรับอากาศขยายตัวสูงในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ สภาพอากาศที่ร้อนทำให้ผู้บริโภคส่วนหนึ่งก็มีแนวโน้มจะซื้อเครื่องปรับอากาศเพิ่มขึ้น แม้ว่าหลายๆครัวเรือนจะมีเครื่องปรับอากาศแล้วก็ตาม ส่งผลให้ตลาดเครื่องปรับอากาศในประเทศมีความคึกคักขึ้นอย่างมาก หลายๆตัวแทนจำหน่ายมีปัญหาช่างติดตั้งไม่เพียงพอกับความต้องการเครื่องปรับอากาศในช่วงฤดูร้อนนี้
- กำลังซื้อของผู้บริโภคในต่างจังหวัดสูงขึ้น
กำลังซื้อในต่างจังหวัดมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากหลายๆปัจจัย โดยเฉพาะการขยายตัวของธุรกิจทั้งภาคการผลิตและบริการสู่ต่างจังหวัดมากขึ้น รวมถึงการเติบโตของการค้าชายแดนที่ขยายตัวสูง โดยเฉพาะจังหวัดที่ติดชายแดนพม่า ลาว และกัมพูชา อีกทั้งการลงทุนและนโยบายเพิ่มรายได้ประชาชนของภาครัฐจากปัจจัยดังกล่าวทำให้ประชาชนในต่างจังหวัดมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น และคาดว่าจะทำให้ยอดขายในต่างจังหวัดเติบโตสูง เนื่องจากจำนวนเครื่องปรับอากาศต่อครัวเรือนมีอัตราที่ต่ำในต่างจังหวัด เมื่อเทียบกับตลาดในกรุงเทพและปริมณฑล จึงมีช่องว่างที่จะขยายตัวได้อีกมาก
- การขยายตัวของช่องทางการจัดจำหน่าย
เนื่องจากการขยายตัวของที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการค้าปลีก โดยเฉพาะดิสเคาน์สโตร์และห้างสรรพสินค้ามีการลงทุนออกไปสู่ต่างจังหวัดมากขึ้น ซึ่งในปี 2556 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จำนวนสาขาดิสเคาส์สโตร์จะขยายตัวถึงร้อยละ 8-10 และห้างสรรพสินค้าจะขยายตัวถึง 10-13% ทำให้ช่องทางการจัดจำหน่ายเครื่องปรับอากาศน่าจะขยายตัวไปด้วยกับช่องทางดังกล่าว ทั้งนี้ อีกช่องทางหนึ่งที่น่าจับตามองคือ ช่องทางขายตรง (Direct sales) ซึ่งกำลังได้รับการตอบรับที่ดีในลูกค้าต่างจังหวัด ซึ่งใช้กลยุทธ์การขายเข้าถึงลูกค้าแต่ละรายถึงที่บ้านและมีโปรโมชั่นเงินผ่อน นอกจากนี้ การเปิด 3G ความนิยมสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตของผู้บริโภค ยังทำให้การซื้อเครื่องปรับอากาศผ่านค้าปลีกออนไลน์มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
- การแข่งขันกระตุ้นตลาดโดยค่ายหลักอย่างญี่ปุ่น เกาหลี และจีน
จากอุณหภูมิที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้ตลาดเครื่องปรับอากาศมีการแข่งขันอย่างเข้มข้น เป็นแรงดึงดูดให้เครื่องปรับอากาศแบรนด์จีนชั้นนำ เข้ามาตั้งโรงงานเพื่อรุกตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ โดยเจาะตลาด ด้วยการใช้กลยุทธ์ด้านราคา เช่น ราคาเครื่องปรับอากาศขนาด 9000 BTU/ชั่วโมง แบรนด์จีนประมาณ 11,000 บาท ซึ่งมีราคาต่ำกว่าแบรนด์ญี่ปุ่นอยู่ราว 20% และต่ำกว่าแบรนด์เกาหลีอยู่ราว 10% เป็นต้น และยังเพิ่มระยะเวลาการรับประกันที่ยาวนานขึ้น ทำให้แบรนด์ดังอย่างญี่ปุ่นและเกาหลี ต้องปรับตัวโดยเพิ่มความหลากหลายของรุ่นสินค้าเพื่อจับกลุ่มตลาดแตกต่างกันไป พร้อมๆ ไปกับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของผลิตภัณฑ์ การออกแคมเปญกระตุ้นการซื้อ เช่น ระบบผ่อนศูนย์เปอร์เซ็นต์ การจ่ายค่าไฟฟ้าให้เดือนแรก เป็นต้น ตลอดจนการตอกย้ำผู้บริโภคถึงภาพลักษณ์ของแบรนด์เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาด
ขอบคุณข่าวแอร์จาก : โพสต์ทูเดย์