เกี่ยวกับแอร์ที่ใช้สารทำความเย็น R-410A ในการทำความเย็น
บทความจาก http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=kanichikoong
สารทำความเย็น R-410A เป็นสารทำความเย็นชนิดใหม่ ที่เริ่มมีการนำมาใช้กันในเครื่องปรับอากาศ ในแวดวงเครื่องปรับอากาศบ้านเรา การนำสารทำความเย็น R-410A มาใช้ จัดว่าเป็นสิ่งที่ค่อนข้างใหม่สำหรับช่างแอร์-ช่างเครื่องเย็น เนื่องจากมีความแตกต่างจากสารทำความเย็นแบบเดิมๆในหลายๆด้าน ไม่ว่าจะเป็น คุณสมบัติ องค์ประกอบทางเคมี ระดับแรงดัน รูปแบบวิธีการชาร์ทสารทำความเย็น ฯลฯ
ตัวผมเองเดิมที เมื่อก่อนตอนที่เครื่องปรับอากาศที่ใช้ R-410A เพิ่งเริ่มเปิดตัวในตลาด ผมเองก็ไม่ค่อยรู้รายละเอียดอะไรมากในเรื่องของสารทำความเย็น R-410A จนกระทั่ง ทีมช่างของที่ร้านได้เข้าร่วมรับฟังการอบรมเกี่ยวกับเครื่องปรับอากาศระบบ Inverter ที่ใช้สารทำความเย็น R-410A ของบริษัทผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศแห่งหนึ่ง ผมจึงถือโอกาสเข้าร่วมรับฟังเพื่อเก็บข้อมูลด้วย
ซึ่งจากการที่ผมได้คลุกคลีอยู่ในแวดวงของเครื่องปรับอากาศ พบว่ามีหลายคนทั้งที่เป็นช่างแอร์ และ เป็นผู้ใช้งานทั่วไป ได้สอบถามมาทางผม เยอะพอสมควร ในเรื่องราวที่เกี่ยวกับสารทำความเย็น R-410A อย่างที่บอกไปครับ สารทำความเย็น R-410 เป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในวงการแอร์ตามต่างจังหวัด ซึ่งลองมองย้อนกลับไป สำหรับใครที่มีโอกาศได้ร่ำเรียนมาในวิชาที่เกี่ยวกับเครื่องทำความเย็นและเครื่องปรับอากาศ จะพบว่าตำราเรียนในสมัยก่อนแทบจะไม่เคยพูดถึงเรื่องราวของสารทำความเย็น R-410A ช่างที่ให้บริการในงานเครื่องปรับอากาศ R-410A ส่วนใหญ่จะเป็นพวกช่างที่สังกัดร้านตัวแทนจำหน่ายของแต่ละยี่ห้อ และบริษัทผู้ผลิตก็จะเรียกไปอบรมก่อนที่จะออกให้บริการกับลูกค้า ดังนั้นข้อมูลเกี่ยวกับสารทำความเย็น R-410A จึงไม่ค่อยแพร่หลาย ต้องอาศัยช่างเฉพาะจากศูนย์บริการในงานติดตั้งและบำรุงรักษา
วันนี้ผมจึงขอรวบรวมเขียนบทความเชิงวิชาการ พูดถึงเนื้อหาในภาพรวมของสารทำความเย็น R-410A
ซึ่งตลาดเครื่องปรับอากาศในประเทศไทย ผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศแต่ละค่าย เริ่มนำสารทำความเย็น R-410A มาใช้ในผลิตภัณฑ์รุ่นท็อป อย่างเช่นเครื่องปรับอากาศระบบ Inverter ของยี่ห้อต่างๆ
- ราคาสารทำความเย็นอาจะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากในภาพ ขึ้นอยู้กับร้านค้าผู้จำหน่าย -
ถ้าย้อนไปในเมื่อ 40 - 50 ปีที่แล้ว ในยุคแรกเริ่มที่ประเทศไทยได้รู้จักและเริ่มมีเครื่องปรับอากาศใช้งาน สารทำความเย็นที่เราใช้กันในเครื่องปรับอากาศ จากอดีตจนถึงปัจจุบันใช้สารทำความเย็นที่มีรหัส R-22
แต่สารทำความเย็น R-22 เป็นสารทำความเย็นในกลุ่ม คลอโรฟลูออโรคาร์บอน (CFC) ซึ่งเป็นสารเคมีที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะมันจะขึ้นไปทำลายชั้นบรรยากาศของโลก เป็นสาเหตุหนึ่งของสภาวะเรื่อนกระจก หรือสภาวะโลกร้อน ที่เราได้ประสบพบเจอกันในตอนนี้ จึงมีการคิดค้นสารทำความเย็นแบบใหม่ขึ้นมา เพื่อใช้ทดแทนสารทำความเย็น R-22
สารทดแทน R-22 แบ่งเป็นสามกลุ่ม
กลุ่ม Propane Series
ตัวอย่างเช่น R-290 โดยนำมา combine กับ R-600a เพื่อเพิ่มความสามารถด้าน COP และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น Co.. 22 หรือ Re.. 22 หรือ R-431A เป็นต้น เรียนว่าเป็น "สารติดไฟ" ปริมาณการใช้น้อยกว่าร้อยละ 50 เพราะมีขนาดของโมเลกุลโตกว่า HFCs ประหยัดไฟกว่าเพราะไม่มีส่วนผสมของ Fluorine
สรุป ลุกติดไฟได้ง่าย ประหยัดค่าไฟฟ้า ใช้ปริมาณน้ำยาน้อยกว่า น้ำยาราคาแพงมากและไม่ยุติธรรมเอาเสียเลย ผู้ขายน้อยราย เป็นสินค้ากึ่งผูกขาด
กลุ่ม Zeotropics
- แบบที่ใช้แทนสารทำความเย็น R-22 ได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนน้ำมันคอมเพรสเซอร์ (ในกรณีเดินท่อระยะใกล้) ได้แก่ R-417A, R-424A, R-422D
- แบบที่ใช้ต้องเปลี่ยนน้ำมันคอมเพรสเซอร์ และคอมเพรสเซอร์ต้องออกแบบมาเฉพาะ ได้แก่ R407C, R427A
- แบบที่ต้องได้การออกแบบมาโดยเฉพาะทั้งระบบ ได้แก่ R-410A
กลุ่ม Inorganic Compounds
R-744 หรือคาร์บอนไดออกไซด์ แรงดันสูงมากอาจเป็นอันตรายได้ เปลี่ยนสถานะได้ทั้งสาม 3 สถานะคือ ก๊าซ, ของแข็งและของเหลวการดีไซน์ระบบยุ่งยากกว่า
R-717 หรือแอมโมเนีย มีราคาถูก ในเขตเมืองห้ามใช้ ต่างจังหวัดก็เริ่มมีการควบคุมในบางพื้นที่ และเมื่อรั่วจะเป็นพิษแก่ผู้อยู่ใกล้เคียง การสูดดมในปริมาณเข้มข้น เพียงเวลาไม่เกิน 15 อาจทำให้หมดสติได้ ซึ่งสารทำความเย็นประเภทแอมโมเนีย ส่วนใหญ่จะมีใช้งานในโรงน้ำแข็งขนาดใหญ่
ปัจจุบันหน่วยงานในระดับนาๆชาติต่างให้ความสำคัญกับสภาวะโลกร้อน ก่อให้เกิดการประชุมหารือกันในระดับนานาชาติ เพื่อกำหนดมาตรการต่างๆขึ้นมาควบคุม ยกตัวอย่างเช่น
สนธิสัญญาเกียวโต (Kyoto Protocol)
เป็นการประชุมภายใต้กรอบของอนุสัญญาสหประชาชาติ ได้มีการกำหนดให้กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ซึ่งรวมไปถึงสารทำความเย็นบางชนิด เช่น R11, R12, R22, 134A เป็นสารที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศ)
ปัจจุบันหลายประเทศในโลก ไม่อนุญาตให้ใช้ R-11, R-12, R-22,R-134A
สนธิสัญญามอนทรีออล (Montreal Protocol)
มีข้อตกลงให้เลิกใช้สาร CFC (R11, R12) และลด-เลิก ใช้สาร HCFC (R-22) ในยุโรป ตั้งแต่ปี ค.ศ.2009 และห้ามนำเข้าเครื่องทำความเย็นที่ใช้สาร HCFC (R-22)
ในส่วนทางด้านรัฐบาลไทย ได้มีมติให้ยกเลิกใช้สารทำลายบรรยากาศโอโซน คือสาร CFC (R-11, R-12) และเริ่มแผนลด-เลิก ใช้สาร HCFC (R-22) ตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2553 โดยกระทรวงอุตสาหกรรม
และคาดว่าในอนาคต เครื่องปรับอากาศที่ผลิตเพื่อวางจำหน่ายในประเทศไทย จะเริ่มทยอยกันเปลี่ยนมาใช้สารทำความเย็นแบบใหม่กันหมด และสารทำความเย็น R-22 ก็จะเริ่มลดจำนวนการผลิตลงเรื่อยๆ
แม้ว่าสารทำความเย็นที่สามารถใช้ทดแทน R-22 มีอยู่หลายชนิด แต่ที่กำลังมาแรงในแวดวงเครื่องปรับอากาศของบ้านเรา เห็นจะเป็นสารทำความเย็น R-410A
สารทำความเย็นรหัส R-410A เป็นสารทำความเย็นในกลุ่ม Hydro Fluoro Carbon (HFC) ข้อแตกต่างที่ทำให้สารทำความเย็น R-410A ดีกว่า R-22 ก็ตรงที่ R-410A เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า เพราะไม่ทำลายชั้นโอโซน รวมทั้งยังมีประสิทธิภาพในการแลกเปลี่ยนความร้อนได้ดีกว่า มีความเสถียรในด้านของสัดส่วนและคุณสมบัติ และใช้ในปริมาณที่น้อยลง R-410A จึงมีแรงดันสูงกว่า R-22 ประมาณ 1.5 – 1.6 เท่า
แต่มีข้อเสียตรงที่ สารทำความเย็น R-410A ติดไฟได้ และในตอนนี้ยังคงมีราคาแพง การให้บริการค่อนข้างยุ่งยาก ช่างในท้องตลาดส่วนใหญ่ยังไม่มีประสบการณ์และความคุ้นเคยกับ R-410A รวมทั้งช่างที่จะมาให้บริการซ่อมบำรุงเครื่องปรับอากาศที่ใช้ R-410A ควรผ่านการอบรมและแนะนำจากบริษัทผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศ หรือบริษัทที่นำเข้าสารทำความเย็นตัวนี้ ก่อนที่จะออกให้บริการลูกค้า
ข้อมูลทางเทคนิคของสารทำความเย็น R-410A
Category : HFC
Formula : CH2F2 / CHF2CF3
Boiling point : -48.5 c
Purity : 99.95%
Lubricants : POE, ABCategory : HFC
ความดันไอที่อุณหภูมิ 90F = 272.8 psig (bubble point) และ 271.2 psig (dew point)
ค่าแรงดันที่วัดได้ ตามมาตรฐานที่กำหนด สำหรับสารทำความเย็น R-410A
ด้านแรงดันต่ำ 0.15-0.25 MPa(1.5-2.5 กก/ตร.ซม, 21-36 PSIG)
ด้านแรงดันสูง 1.37-1.57 MPa(14-16 กก/ตร.ซม, 199-228 PSIG)
ในตอนนี้มีหลายคน ถามผมอยู่บ่อยๆ ในเรื่องของการวัดระดับแรงดันของสารทำความเย็น R-410A จะใช้เมนิโฟลด์เกจของ R-22 ได้หรือไม่?
ผมขอตอบในที่นี้เลยนะครับว่า “ไม่ได้” เพราะสารทำความเย็น R-410A มีแรงดันสูงกว่า R-22 ประมาณ 1.5 – 1.6 เท่า เมนิโฟลด์ เกจ ต้องเป็นแบบเฉพาะที่ออกแบบมาให้รองรับสารทำความเย็น R-410A เท่านั้น และคอมเพรสเซอร์ที่ใช้ก็ต้องเป็นแบบเฉพาะที่ผลิตมาไว้ใช้กับสารทำความเย็น R-410A โดยตรง
และที่วาล์วลูกศรก็ต่อเข้ากันไม่ได้อยู่แล้ว เนื่องจากวาล์วลูกศรของ R-410A เป็นวาล์วลูกศรที่ใช้กับท่อขนาด 3/8” ส่วนวาล์วลูกศรของ R-22 เป็นวาล์วลูกศรที่ใช้กับท่อขนาด 1/4" ทางผู้ผลิตได้ทำขนาดให้แตกต่างกันเพื่อป้องการการพลาด ใช้เมนิโฟลด์ เกจ ผิดชนิด
ส่วนใครที่คิดจะหาทางลัด โดยการดัดแปลงทำข้อต่อเสริมให้เสียบสายเกจของ R-22 เข้ากับวาล์วลูกศรของ R-410A ได้นั้น กรณีนี้ไม่แนะนำอย่างเด็ดขาด ต่อให้คุณทำข้อต่อเพื่อดัดแปลงในการต่อสายเกจ จากด้าน Low ที่วาล์วลูกศรของ R-410A แล้ววัดค่ากับเกจ R-22 ด้านเกจ Hight ก็ไม่ได้ เพราะเป็นการใช้งานที่ผิดประเภทอาจจะก่อให้เกิดอันตรายได้
การเลือกซื้อเครื่องปรับอากาศที่ใช้สารทำความเย็น R-410A
เครื่องปรับอากาศที่ใช้สารทำความเย็น R-410A ปัจจุบันเริ่มมีเข้ามาวางจำหน่ายในท้องตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศ รุ่น Inverter และผมก็คาดว่าในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเครื่องปรับอากาศแบบธรรมดา หรือแบบ Inverter ผู้ผลิตก็จะทยอยเปลี่ยนมาใช้สารทำความเย็น R-410A กันหมด และจะส่งผลให้ สารทำความเย็น R-22 ค่อยๆหายไปจากตลาด คงเหลือไว้เพียงส่วนน้อย เพื่อใช้เป็นสารทำความเย็นสำหรับเติมเครื่องปรับอากาศรุ่นเก่า และสารทำความเย็น R-410A ก็จะมีการผลิตและวางจำหน่ายเพิ่มขึ้น และอาจทำให้มีราคาถูกลงกว่าที่เป็นอยู่
ในขณะนี้(พ.ศ. 2555)สำหรับผู้บริโภคที่ต้องการจะซื้อเครื่องปรับอากาศที่ใช้สารทำความเย็นเบอร์ใหม่ ในกรุงเทพและปริมณฑลหรือตามหัวเมืองใหญ่ๆไม่น่าจะมีปัญหา แต่สำหรับผู้บริโภคที่อยู่ต่างจังหวัด หรือซื้อเครื่องปรับอากาศ R-410A มาจากที่อื่นแล้วจะมาติดตั้งในพื้นที่ ก่อนอื่นท่านควรจะสอบถามร้านให้บริการติดตั้งแอร์ในละแวกใกล้เคียง ว่ามีความสามารถและอุปกรณ์พร้อมในการให้บริการหรือไม่
เพราะตอนนี้ปัญหาที่ผมได้ทราบมา คือ ร้านแอร์ตามท้องถิ่นนอกเมืองไม่มีเกจวัดแรงดันสารทำความเย็น R-410A ไว้ให้บริการ และช่างบางส่วนยังขาดความรู้ความเข้าใจในระบบเครื่องทำความเย็น R-410A
ซึ่งช่างที่จะออกให้บริการในงานเครื่องปรับอากาศ Inverter ที่ใช้สารทำความเย็น R-410A ควรได้รับการอบรมหรือแนะนำจากฝ่ายเทคนิคของบริษัทผู้ผลิตแอร์ เพื่อที่จะได้ออกให้บริการได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย
คำถามที่พบบ่อยในเรื่องที่เกี่ยวกับสารทำความเย็น R-410A
เครื่องทำความเย็นที่ เดิมใช้ R-22 จะเปลี่ยนมาใช้ R-410A ได้ไหม ?
โดยทั่วไปแล้วไม่สามารถทำได้ ถ้าคอมเพรสเซอร์และอุปกรณ์ต่างๆในระบบ ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อใช้กับ R-410A โดยเฉพาะ เพราะส่วนของคอยล์ อาจรับแรงดันของสารทำความเย็น R-410A ไม่ได้ คุณสมบัติแรงดัน และเทอร์โมไดนามิคของ R-410A ทำให้คอมเพรสเซอร์ที่ใช้ ต้องถูกออกแบบใหม่โดยเฉพาะ คอมเพรสเซอร์ที่ถูกออกแบบมาสำหรับ R-22 หากนำไปใช้กับสารทำความเย็น R410-A จะทำให้มอเตอร์งานเกินกำลังและทำให้ได้รับความเสียหาย หากเครื่องพยายามปั๊ม R-410A ในระบบปรับอากาศ
ความชื้นนั้นเป็นปัญหาสำคัญในระบบทำความเย็น แล้วจะเลือกใช้อุปกรณ์กรองและดูดความชื้นแบบใดกับ R-410A ?
ควรใช้อุปกรณ์บรรจุสารดูดความชื้นโมเลกุลาซีฟ100% ในระบบใหม่ใดๆ หรือระบบที่ปราศจากกรด กรณีที่มีกรดอนินทรีย์ ควรทำการติดตั้งอุปกรณ์กรองที่มีสารดูดความชื้นแอคติเวทเต็ด อลูมินา 25%
น้ำมันคอมเพรสเซอร์ R-410 กับ R-22 ชนิดเดียวกันหรือไม่ และต้องใช้น้ำมันเสริมหรือไม่ ?
น้ำมันที่ใช้ในระบบ R-22 เป็นชนิดที่แตกต่างกับของระบบ R-410A การใช้งานต้องเลือกใช้น้ำมันที่ผลิตมาโดยเฉพาะ ทั้งนี้เรื่องการใช้น้ำมันเสริมจะขึ้นอยู่กับการใช้งาน
การใช้คอมเพรสเซอร์ R-410A นอกจากจะมีความดันที่สูงกว่าแล้ว ยังมีปัญหาอื่นอีกหรือไม่ ?
มีปัญหา ในเรื่องของ ความชื้นและสารปนเปื้อน ดังนี้
- ความชื้น: เนื่องจากน้ำมันโพลีออลเอสเตอร์ (POE) นั้นดูดซึมความชื้นในอัตราที่เร็วและสูงกว่าน้ำมันแร่ ดังนั้นระยะเวลาที่ ภายในคอมเพรสเซอร์จะสัมผัสถูกบรรยากาศจึงสั้นกว่ามาก หลักการปฏิบัติที่ดี ระบุว่าไม่ควรดึงปลั๊ก(จุกที่อุดปลายท่อ)คอมเพรสเซอร์จนกว่า คอมเพรสเซอร์จะติดตั้งเรียบร้อย
- สารปนเปื้อนในระบบ: น้ำมันโพลีออลเอสเตอร์ (POE) เป็นตัวทำความสะอาดชั้นดี ซึ่งจะพาคอปเปอร์-ออกไซด์และ สารปนเปื้อนอื่นๆ ที่น้ำมันแร่ทิ้งไว้ให้ไหลไปในระบบ ทำให้อาจไปอุดตันอุปกรณ์ขยายตัวได้ ต้องปล่อยให้แก๊สเฉื่อย เช่น ไนโตรเจน ไหลผ่านระบบเพื่อป้องกันการเกิดคอปเปอร์-ออกไซด์ขึ้นระหว่างการแล่นประสาน
- ทั้งการควบคุมความชื้นและสารปนเปื้อนควรจะเป็นกระบวนการปกติสำหรับการติดตั้ง R-22 และยิ่งสำคัญมากยิ่งขึ้น ไปอีกสำหรับการติดตั้งระบบที่ใช้น้ำมัน POE
ในอนาคต หากมีการใช้งานสารทำความเย็น R-410A อย่างแพร่หลาย แล้วเราจะทราบได้อย่างไร ว่าเครื่องปรับอากาศเครื่องนั้นใช้สารทำความเย็นรหัสไหน
เบื้องต้น ข้อมูลสารทำความเย็นที่เครื่องปรับอากาศเครื่องนั้นใช้ ทางผู้ผลิตได้แสดงรายละเอียดไว้บนแผ่นป้าย (Name Plate) ที่ติดด้านข้างของเครื่อง ยิ่งถ้าเป็นเครื่องปรับอากาศที่ใช้ R-410A ปัจจุบันผู้ผลิตจะติดป้ายขนาดใหญ่ระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นสารทำความเย็นชนิดใหม่ "New Refrigerant HFC410A" แต่ถ้าไม่มีป้ายแสดง ก็ให้สังเกตจากวาล์วลูกศรที่ใช้เสียบเกจวัดแรงดัน(หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงในอนาคต) หัววาล์วลูกศรของ R-22 จะเป็นขนาด 1/4" ส่วนหัววาล์วลูกศรของ R-410A จะเป็นขนาด 3/8"
การชาร์ทน้ำยาเข้าสู่ระบบ ใช้การตวงวัดปริมาตรแบบไหน ?
ในการชาร์ทน้ำยาเข้าสูระบบ สำหรับสารทำความเย็น R-410A จะใช้วิธีการชั่งน้ำหนักด้วยเครื่องชั้งดิจิตอล โดยอ้างอิงปริมาณน้ำยาจากข้อมูลที่ทางผู้ผลิตให้มา และหากมีการเดินท่อเพิ่มจากความยาวที่กำหนด จะต้องนำความยาวท่อในส่วนที่เพิ่มขึ้น มาคำนวนหาค่าน้ำหนักของสารทำความเย็นที่จะต้องใส่เพิ่มไปการชาร์ทน้ำยาเข้าสู่ระบบ
ข้อแตกต่างที่เห็นได้ชัดระหว่างคอมเพรสเซอร์ R-22 และ R-410A
1. น้ำมันต่างกัน เนื่องจากน้ำมันแร่ที่มักจะถูกใช้ในคอมเพรสเซอร์ R-22 ไม่สามารถผสมกับสารทำความเย็น HFC อย่าง R-410A ดังนั้นต้องน้ำมันโพลีออลเอสเตอร์สังเคราะห์ (POE) ในคอมเพรสเซอร์แบบ R-410A แทน
2. ความจุคอมเพรสเซอร์ที่ลดลง ค่าต่างระหว่างความสามารถในการเก็บความร้อนของ R-410A หนึ่งปอนด์กับ R-22 อยู่ในระดับใกล้เคียงกับค่าต่างระหว่าง R-22 กับ R-12 ดังนั้นจึงต้องลดความจุคอมเพรสเซอร์ลงราว 40% สำหรับขนาดแรงม้า มอเตอร์ที่ได้ การใช้คอมเพรสเซอร์ที่ถูกออกแบบมาสำหรับ R-22 เพื่อปั๊ม R-410A จะทำให้มอเตอร์ทำงานหนักเกินไป จนตัวป้องกันสะดุด
3. ข้อจำกัดแรงดันแตกที่สูงกว่า ที่อุณหภูมิอิ่มตัวใดๆ R-410A จะมีแรงดันสูงกว่า R-22 ประมาณ 60% ซึ่งทำให้โครง คอมเพรสเซอร์ถึงขีดจำกัดแรงดันที่สูงกว่า
สรุป : สารทำความเย็น R-410A เป็นสารทำความเย็นแบบใหม่ที่นำมาใช้แทนสารทำความเย็น R-22 มีแรงดันสูงกว่า R-22 ประมาณ 1.5 - 1.6 เท่า ราคาในตอนนี้ยังถือว่าแพง และติดไฟได้ ที่สำคัญ...ไม่สามารถใช้เกจของ R-22 มาวัดแรงดันของ R-410A ได้...ต้องซื้อเกจตัวใหม่ที่รองรับ R-410 ในตอนนี้ช่างที่มีความรู้ความเข้าใจในระบบทำความเย็นที่ใช้ R-410A ยังมีน้อย ช่างที่จะติดตั้งเครื่องปรับอากาศ R-410A ทางที่ดีควรจะได้รับการฟังบรรยายอบรม เกี่ยวกับเครื่องปรับอากาศที่ใช้ R-410A