อุปกรณ์ควบคุมในวงจรน้ำยาแอร์บ้าน มีอะไรบ้าง
เปิดอ่าน 26,480
อุปกรณ์ควบคุมในวงจรน้ำยา เป็นอุปกรณ์ที่ทำงานร่วมกับอุปกรณ์หลัก เพื่อควบคุมการทำงานของวงจรทำความเย็นแบบอัดไอให้ทำงานได้ถูกต้องและปลอดภัย
ลิ้นควบคุมความดันด้านต่ำ (low pressure control valve)
ลิ้นควบคุมความดันด้านต่ำ คือตั้งอยู่ระหว่างคอนเดนเซอร์และแอคคิวมูเลเตอร์ ทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้ความดันด้านต่ำลดลงต่ำเกินไป เช่น ในเครื่องปรับอากาศจะคบคุมความดันไม่ให้ลดต่ำกว่า 57 psig หรือ 4 kg/cm2
ท่อฉีดน้ำยาเหลว (injection capillary)
ท่อฉีดน้ำยาเหลว ติดตั้งอยู่ระหว่างดรายเออร์และท่อด้านดูด ทำหน้าที่ฉีดน้ำยาเหลวเข้าไประบายความร้อนในมอเตอร์ขับคอมเพรสเซอร์ ใช้กับเครื่องปรับอากาศที่ใช้คอมเพรสเซอร์แบบโรตารี่
ลิ้นควบคุมด้วยไฟฟ้า (solenoid valve)
ลิ้นควบคุมด้วยไฟฟ้า ทำงานโดยอาศัยแม่เหล็กไฟฟ้า ในเครื่องทำความเย็นจะใช้ลิ้นควบคุมนี้ให้ทำหน้าที่ต่าง ๆ เช่น ใช้ในการปั๊มดาวน์ (pump down) เมื่อเทอร์โมสตัทตัดวงจร ใช้ในการละลายน้ำแข็งโดยให้แก๊สผ่านเครื่องระเหย ช่วยทำหน้าที่ลดกำลังขับ (under loading) ขณะคอมเพรสเซอร์เริ่มต้นทำงาน
ปลั๊กหลอมละลาย (fusible plug)
ปลั๊กหลอมละลาย ทำหน้าที่ป้องกันอันตรายและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นเมื่อน้ำยาที่ควบแน่นออกจากคอนเดนเซอร์มีอุณหภูมิสูงผิดปกติ หรือในกรณีที่เกิดไฟไหม้ ปลั๊กหลอมละลายจะยอมให้น้ำยาระบายทิ้งออกมาเนื่องจากโลหะที่อุดอยู่จะหลอมละลาย
ลิ้นระบายความดัน (safety valve หรือ reliet valve)
ลิ้นระบายความดัน ทำหน้าที่เช่นเดียวกับปลั๊กหลอมละลาย เหมาะที่จะใช้กับระบบขนาดใหญ่ การทำงานเมื่อความดันในระบบสูงเกินกำหนด น้ำยาจะดันผ่านลิ้นยกสปริงเปิดให้น้ำยาระบายออก จนความดันลดลงสปริงจะกดลิ้นให้ปิดคืน น้ำยาจะไม่ระบายออกหมดเหมือนกับระบบที่ใช้ปลั๊กหลอมละลาย
สวิตซ์ควบคุมความดันน้ำมันหล่อลื่น (oil pressure switch)
สวิตซ์ควบคุมความดันน้ำมันหล่อลื่น ทำหน้าที่ตัดคอมเพรสเซอร์ให้หยุดทำงาน เมื่อความดันของน้ำมันหล่อลื่นต่ำกว่ากำหนด เพื่อป้องกันคอมเพรสเซอร์เสียหายเนื่องจากขาดการหล่อลื่น
สวิตซ์ควบคุมความดันด้านต่ำ (low pressure switch)
สวิตซ์ควบคุมความดันด้านต่ำ ทำหน้าที่ควบคุมความดันด้านต่ำไม่ให้ต่ำเกินไป โดยอาศัยความดันของน้ำยาด้านความดันต่ำกระทำผ่านหน้าสัมผัส ตัดคอมเพรสเซอร์ให้หยุดทำงานเมื่อความดันต่ำกว่ากำหนด
สวิตซ์ควบคุมด้านความดันสูง (high pressure switch)
สวิตซ์ควบคุมด้านความดันสูง ทำหน้าที่ควบคุมความดันด้านสูงไม่ให้สูงเกินกำหนด โดยอาศัยความดันของน้ำยาด้านความดันสูงกระทำผ่านหน้าสัมผัส ตัดคอมเพรสเซอร์ให้หยุดทำงานเมื่อความดันสูงเกินกำหนด