หลักการบรรจุสารความเย็นในสถานะแก๊ส และของเหลว
การบรรจุสารความเย็นในสถานะแก๊ส
การบรรจุสารความเย็นที่เป็นแก๊สเข้าในระบบทางด้านความดันต่ำ โดยเดินมอเตอร์คอมเพรสเซอร์ดูดสารความเย็นเข้าในระบบการเติมสารความเย็น การเติมสารความเย็นเข้าในระบบโดยวิธีนี้จะใช้เวลาเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย แต่เป็นวิธีที่ธรรมดา ๆ และปลอดภัยในการปฏิบัติ
ในขณะที่หยุดระบบเครื่องปรับอากาศ ให้เปิดวาล์วด้านเกจวัดความดันสูง ปล่อยให้สารความเย็นในท่อสารความเย็นผ่านเข้าทางด้านความดันสูงของระบบ และคอยควบคุมให้เกจด้านความดันสูงมีความดันประมาณ 50 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว เพื่อป้องกันไม่ให้คอมเพรสเซอร์เกิดชำรุดจากการเพิ่มความดันอย่างรวดเร็ว ขณะนี้สารความเย็นได้ถูกบรรจุเข้าในระบบทางด้านความดันสูงให้เพิ่มสารความเย็นเข้าในระบบจนกระทั่งไม่สามารถบรรจุเพิ่มเข้าได้อีก เนื่องจากความดันของแก๊สในระบบเท่ากับความดันของสารความเย็นภายในท่อ ตามปกติการบรรจุสารความเย็นเข้าในระบบจะกระทำไม่ได้ ถ้าไม่เดินเครื่องปรับอากาศและปิดวาล์วด้านความดันสูงของเกจแมนิโฟลด์และการบรรจุสารความเย็นจะกระทำต่อไปได้โดยการเดินระบบเครื่องปรับอากาศ แล้วค่อย ๆ เปิดวาล์วเกจด้านความดันต่ำ
เมื่อเริ่มเดินเครื่องและบรรจุสารความเย็นในสถานแก๊สเข้าในระบบทางด้านความดันต่ำ ให้สังเกตความดันด้านเกจวัดความดันสูงของระบบประกอบการบรรจุสารความเย็นเข้าในระบบด้วย
ลำดับขั้นการบรรจุสารความเย็นในสถานแก๊สเข้าในระบบ มีดังนี้
- ถอดปลายสายกลางของเกจแมนิโฟลด์ออกจากเครื่องปั๊มสุญญากาศ แล้วต่อเข้อกับท่อสารความเย็น
- เปิดวาล์วท่อสารความเย็น (สถานะแก๊ส)
- ใช้สารความเย็นในท่อ ไล่อากาศที่ค้างอยู่ในสายกลางของเกจแมนิโฟลด์ โดยคลายปลายสายด้านติดกับเกจแมนิโฟลด์เล็กน้อย ปล่อยให้สารความเย็นจากในท่อไล่อากาศออกทิ้ง ขันปลายสายกลับเข้าให้แน่นตามเดิม
- เปิดวาล์ว A บรรจุสารความเย็นเข้าในระบบเล็กน้อย ดูที่ความดันเกจประมาณ 30 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว แล้วปิดวาล์ว A อีกครั้งหนึ่ง
- เดินมอเตอร์คอมเพรสเซอร์ของระบบเครื่องทำความเย็น
- ค่อย ๆ เปิดวาล์ว A ควบคุมให้สารความเย็นในสถานะแก๊สบรรจุความเย็นเข้าในระบบสังเกตดูเข็มของเกจแมนิโฟลด์ทั้งด้านความดันสูงและด้านความดันต่ำ ให้ได้ความดันตามเกณฑ์
- ปิดวาล์ว A เมื่อความดันในระบบ ทั้งด้านความดันสูงและด้านความดันต่ำได้ตามเกณฑ์พอดีแล้ว
- ทดลองเดินเครื่องทำความเย็น ในขณะที่ยังติดเกจแมนิโฟลด์อยู่กับระบบ อย่างน้อยที่สุดประมาณ 3 ชั่วโมง
การบรรจุสารความเย็นในสถานะของเหลว
การบรรจุสารความเย็นในสถานะสารความเย็นเหลวเข้าระบบ ในขณะที่หยุดระบบเครื่องทำความเย็น วิธีนี้ใช้กับการบรรจุสารความเย็นเข้าในระบบของบริษัทผู้ผลิตมากกว่าช่างซ่อมและบริการ ในทางปฏิบัติมีลำดับขั้นดังนี้
- ถอดปลายสายกลางของเกจแมนิโฟลด์ออกจากเครื่องปั๊มสุญญากาศ แล้วต่อเข้ากับท่อสารความเย็น
- เปิดวาล์วท่อสารความเย็น (ในสถานะแก๊ส)
- ใช้สารความเย็นในท่อไล่อากาศที่ค้างอยู่ในสายกลางของเกจแมนิโฟลด์ โดยคลายปลายสายด้านติดกับเกจแมนิโฟลด์เล็กน้อย ปล่อยให้สารความเย็นจากในท่อไล่อากาศทิ้ง ขันปลายสายกลับเข้าให้แน่นตามเดิม
- ปิดวาล์วท่อสารความเย็นในสถานะแก๊ส แล้วเปิดวาล์วท่อสารความเย็นในสถานะของเหลวแทน
- เปิดวาล์ว B ให้สารความเย็นเหลวไหลเข้าในระบบ สังเกตดูน้ำหนักของสารความเย็นในท่อที่ลดลงให้ได้ตามเกณฑ์ แล้วคอยควบคุมวาล์ว B ให้ดี
- ถ้าสารความเย็นจากในท่อไม่สามารถอัดเข้าในระบบได้อีก เนื่องจากความดันในระบบเท่ากับความดันของสารความเย็นในท่อ ให้ใช้น้ำแข็งลูบโดยรอบท่อพักสารความเย็นของระบบ จะทำให้ความดันของสารความเย็นในระบบลดลง สามารถอัดสารความเย็นเข้าในระบบได้อีก
- เมื่อน้ำหนักของสารความเย็นในท่อสารความเย็นลดลงตามเกณฑ์แล้ว ให้ปิดวาล์ว B
- ทดลองเดินระบบเครื่องทำความเย็น ในขณะที่ยังติดเกจแมนิโฟลด์อยู่ อย่างน้อยที่สุดประมาณ 3 ชั่วโมง
ในการบรรจุสารความเย็นในสถานะสารความเย็นเหลวเข้าระบบ มีข้อควรระวังดังนี้
- ห้ามเดินระบบเครื่องทำความเย็น ในขณะที่กำลังบรรจุสารความเย็นเหลวเข้าในระบบทางด้านความดันสูง เพราะความดันในระบบจะถูกอัดกลับเข้าท่อสารความเย็น
- ในการบรรจุสารความเย็นเข้าในระบบในสถานะแก๊สทางด้านความดันต่ำ ระวังอย่าเปิดวาล์วท่อสารความเย็นผิด โดยปล่อยเอาสารความเย็นเหลวเข้าไปเป็นอันขาด เพราะจะทำให้ลิ้นคอมเพรสเซอร์ชำรุดได้