มุมมองด้านสิ่งแวดล้อมของผู้บริหารจาก บริษัท สยามไดกิ้น
กว่า 30 ปี กับการทำงานในวงการอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ มร. ทากาโยชิ มิกิ ผู้จัดการใหญ่ของบริษัท สยามไดกิ้นเซลส์ จำกัด มองเห็นความเปลี่ยนแปลงหลายยุคหลายสมัยในการพัฒนาเครื่องปรับอากาศที่กลายเป็นปัจจัยสำคัญในชีวิตของผู้คนทั่วโลกมาอย่างต่อเนื่อง สองความต้องการที่ตีคู่กันมาตลอดคือการพัฒนาเครื่องปรับอากาศที่ประหยัดพลังงานมากขึ้นและทำร้ายสิ่งแวดล้อมน้อยลง
“ในต้นปี 1970 โลกเกิดวิกฤตด้านพลังงานน้ำมัน และเป็นที่ทราบกันดีว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่มีการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง ประสบการณ์ครั้งนั้นจึงทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นตื่นตัวและทุ่มเทความพยายามอย่างมากเพื่อหาหนทางในการประหยัดพลังงาน ทั้งการรณรงค์กับคนภายในประเทศและในภาคอุตสาหกรรมซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องปรับอากาศเช่นกัน การประหยัดพลังงานจึงเป็นวัฒนธรรมองค์กรของไดกิ้นนับตั้งแต่นั้นมา”
ในปี 1980 เมื่อมีการค้นพบว่าสารทำความเย็นในเครื่องปรับอากาศ ที่มีสาร HCFC (R22) เป็นตัวการสำคัญที่ทำลายชั้นโอโซนและมีส่วนทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ในขณะที่สาร HFC (R410A) นั้น แม้จะไม่ทำลายชั้นโอโซนแต่ก็มีส่วนทำให้เกิดภาวะโลกร้อนอยู่ดี จึงมีความพยายามของภาคอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศที่จะลดและเลิกใช้สารทำความเย็นดังกล่าวโดยสิ้นเชิงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า สารทำความเย็น R32 จึงได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวและรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เครื่องปรับอากาศสำหรับที่อยู่อาศัยของไดกิ้นทั้งหมดในประเทศญี่ปุ่นได้เปลี่ยนมาใช้สารทำความเย็น R32 ตั้งแต่ปลายปี 2012 และในประเทศไทยเอง ไดกิ้นยังคงเป็นผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศรายแรกที่เปลี่ยนมาใช้สารทำความเย็น R32 ซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยไม่ทำลายชั้นโอโซนและก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนน้อยกว่าสารทำความเย็นปัจจุบัน อาร์ 410 ถึง 3 เท่า
“แต่ละบ้านต้องมีเครื่องปรับอากาศอย่างน้อย 1 เครื่อง เพราะเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับที่อยู่อาศัยไปแล้ว เราอาจจะไม่เคยให้ความสนใจมากนักกับสิ่งที่ปล่อยออกมาจากเครื่องปรับอากาศนอกจากลมร้อนๆ แต่นั่นคือสารพิษที่พ่นออกมาทำลายบรรยากาศของโลกทุกครั้งที่คุณเปิดใช้เครื่องปรับอากาศ วันนี้ ทุกคนรู้สึกได้ว่าอากาศร้อนขึ้น ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่มันคือทั่วโลกร้อนขึ้น”
“ในประเทศไทยเรื่องของการประหยัดพลังงานและการไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่รัฐบาลรณรงค์มาโดยตลอด หากมีการให้ความรู้ความเข้าใจที่ชัดเจนและรณรงค์เรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม ผู้บริโภคก็จะเข้าใจและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเพื่อตัวเอง ครอบครัว และอนาคตของโลกเรา คนไทยทุกวันนี้ก็ตื่นตัวเรื่องอันตรายจากภาวะโลกร้อนกันมากขึ้น รวมทั้งการประหยัดพลังงานก็เช่นกัน เพราะนอกจากจะเป็นเรื่องที่ต้องช่วยชาติประหยัดพลังงานที่เป็นวลีคุ้นหูแล้ว ตัวเลขค่าไฟฟ้าที่ลดลงกลายเป็นความท้าทายของเจ้าของบ้านด้วยเช่นกัน”
“เวลาเราซื้อคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือ เราจะทดสอบประสิทธิภาพการทำงานได้ด้วยตัวเองก่อนตัดสินใจซื้อ แต่สำหรับเครื่องปรับอากาศ เราคงให้ร้านค้าเปิดเครื่องเพื่อทดสอบก่อนไม่ได้ ไดกิ้นจึงให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมผู้แทนจำหน่ายซึ่งจะส่งผ่านความรู้ไปยังทีมขายที่จะให้เป็นด่านหน้าในการพบปะและตอบข้อสงสัยของลูกค้า เราเชื่อว่า การสร้างความรู้ความเข้าใจในประโยชน์สูงสุดและความคุ้มค่าในระยะยาว รวมทั้งการมีส่วนช่วยพิทักษ์สิ่งแวดล้อมโลกของเครื่องปรับอากาศไดกิ้น จะช่วยประกอบการตัดสินใจของผู้บริโภคได้ดีขึ้น”
“การเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงในวันนี้ อาจจะยังไม่เห็นผลในเร็ววัน เพราะเป็นเรื่องที่จะต้องวัดผลกันในระยะยาว แต่หากไม่เริ่มวันนี้ โลกก็จะยังคงถูกทำร้ายต่อไปเรื่อยๆ ผมเชื่อว่าคนไทยมองคนญี่ปุ่นเป็นแบบอย่างในหลายๆ เรื่อง และหวังว่าเครื่องปรับอากาศที่ใช้สารทำความเย็น R32 ใหม่ จะได้รับความนิยมในประเทศไทยไม่แพ้ในประเทศญี่ปุ่นเช่นกัน”
ขอบคุณที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์