ที่มาของคราบดำ บริเวณหัวจ่ายลมแอร์ มาจากไหนกันนะ
คราบสกปรกที่ติดตามหัวจ่ายแอร์ไม่ว่าหัวจ่ายลมหรือหัวลมกลับก็แล้วแต่ เกิดมาจากทั้งภายในและภายนอกบริเวณปรับอากาศได้ทั้งนั้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสิ่งแขวนลอยในอากาศเหล่านั้นว่าเป็นชนิดใด คราบสกปรกบริเวณหัวจ่ายลมเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุดังนี้
1. ฝุ่นละออง (dust)
มีอยู่หลายขนาดตั้งแต่ใหญ่จนสามารถมองด้วยตาเปล่าจนเล็กมากถึงระดับไมโครเมตร ฝุ่นละอองนี้มีอยู่ทั้งภายในและภายนอกบริเวณปรับอากาศ ฝุ่นละอองที่อยู่ภายในบริเวรปรับอากาศได้แก่ พวกฝุ่นผงปูนซีเมนต์ที่เกิดระหว่างการก่อสร้างและจะตกขังอยู่ตามพื้น เนื่องจากฝุ่นพวกนี้มีน้ำหนักมากและมีขนาดใหญ่ ดังนั้นจึงไม่ค่อยพบฝุ่นพวกนี้ติดตามหัวจ่ายลม และจะยังคงตกค้างอยู่เนื่องจากลมกลับมีความเร็วต่ำจนพาออกไปได้เพียงอนุภาคเล็ก ๆ เท่านั้น
ฝุ่นละอองอีกประเภทหนึ่งคือพวกที่ติดเข้ามากับอากาศบริสุทธิ์ ซึ่งถูกดึงผ่านเครื่องแอร์เข้ามา ถึงแม้ว่าเครื่องปรับอากาศจะมีแผงกรอง (filter) ก็ตาม แต่ความสามารถของแผงกรองมีอยู่จำกัด สามารถดักจับได้เพียงขนาดโต ๆ เท่านั้น พวกที่มีขนาดเล็กยังสามารถผ่านเข้ามาได้ ฝุ่นพวกนี้จะผ่านระบบท่อลมออกมาทางหัวจ่ายลม ซึ่งตามที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น เนื่องจากผลของอากาศหลักและอากาศรอง ฝุ่นเหล่านี้จะกระจายไปทั่วห้องและจะปนอยู่ในอากาศรอง เนื่องจากมีการไหลวนของอากาศ ฝุ่นเหล่านี้สามารถติดอยู่ตามหัวจ่ายลมได้
2. ควันบุหรี่ (smoke)
ควันดำของบุหรี่ทำให้หัวจ่ายลมสกปรกได้ง่าย เนื่องจากมีน้ำหนักเบา การเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ทำให้เกิดพวกไฮโดรคาร์บอนลอยตัวอยู่ในควันเหล่านี้ เมื่อควันนี้ลอยตัวสูงขึ้นเนื่องจากมีอุณหภูมิสูง ดังนั้นจึงเป็นการง่ายเหลือเกินที่จะผสมเข้ากับอากาศหลัก (Primary air) ซึ่งจะทำให้เกิดการไหลวนของอากาศบริเวณใกล้ ๆ หัวจ่ายไฮโดรคาร์บอนจากควันบุหรี่ที่สะสมกันมากขึ้นบริเวณหัวจ่ายอาจขายวงกว้างออกได้ จนบางครั้งทำให้ฝ้าเพดานบริเวณนั้นมีสีหมองคล้ำลง
3. ไฟฟ้าสถิต (electrostatics)
ไฟฟ้าสถิตนี้เกิดได้ทั้งจากมนุษย์, สิ่งของ หรือแม้แต่ฝุ่นละอองต่าง ๆ ที่ลอยอยู่ในอากาศมนุษย์เรามีไฟฟ้าสถิตอยู่ในตัวทั้งนี้เกิดจากการเสียดสีกับวัตถุอื่น สังเกตได้จากตามผมหรือขนตามตัวจะเห็นว่ามีฝุ่นผงติดอยู่ ไฟฟ้าสถิตนี้เกิดจากการถ่ายเทประจุไฟฟ้าระหว่างวัตถุ 2 ชนิด ประจุไฟฟ้าก็มีอยู่ 2 ชนิดคือ ประจุไฟฟ้าบวกและประจุไฟฟ้าลบ ฝุ่นละอองที่ล่องลอยอยู่ในอากาศซึ่งมีจำนวนมากแน่นอนที่ว่าจะต้องเกิดการชนกันขึ้นได้ จากการชนกันนี้ทำให้การถ่ายเทประจุไฟฟ้าเกิดขึ้นได้ ฝุ่นละอองที่มีประจุต่างกันจะเกิดการดึงดูดกันทำให้มีขนาดโตขึ้น ซึ่งส่วนมากพวกที่มีขนาดใหญ่นี้สามารถถูกดูดกลับทางหัวลมกลับและถูกดักจับโดยแผงกรองอากาศได้ สำหรับพวกที่ไม่ได้จับกลุ่มกับใคร เนื่องจากมีประจุไฟฟ้าอยู่ในตัวเอง ดังนั้นจึงสามารถเกิดแรงดึงดูดกับวัตถุอื่นได้ ทั้งนี้รวมถึงหัวจ่ายลมนั่นเอง การจับตัวของคราบดำอันเนื่องมาจากไฟฟ้าสถิตนี้สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ตราบเท่าที่ยังมีการไหลตัวของอากาศ
สาเหตุที่ทำให้เกิดคราบดำนอกจากที่กล่าวมาแล้ว ก็ยังมีสาเหตุอื่นอีกหลายอย่างเช่น จากผมคน, ขนสัตว์ การสึกหรอของพื้นผนังปูนซีเมนต์ เป็นต้น แต่ทั้งนี้ลักษณะที่ทำให้เกิดหัวจ่ายดำก็มีลักษณะใกล้เคียงกันทั้งสิ้น