ทำไมต้องมีหลักดิน
เปิดอ่าน 5,320
หลักดินเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของระบบสายดิน ดังนี้
- เป็นอุปกรณ์ปลายทางที่จะทำหน้าที่สัมผัสกับพื้นดิน
- เป็นส่วนที่จะทำให้สายดินหรืออุปกรณ์ที่ต่อลงดินมีศักย์ไฟฟ้าเป็นศูนย์เท่ากับดิน
- เป็นเส้นทางไหลของประจุไฟฟ้าหรือกระแสไฟฟ้าที่จะไหลลงสู่ดิน
- เป็นตัวกำหนดคุณภาพ อายุความทนทาน และความปลอดภัยของระบบการต่อลงดินในระยะยาว
คุณสมบัติของหลักดิน และการติดตั้งที่ถูกต้อง
หลักดินต้องทำด้วยวัสดุที่ทนต่อการผุกร่อนและไม่เป็นสนิม เช่น แท่งทองแดง แท่งเหล็กชุบหรือหุ้มด้วยทองแดงขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 16 มม. (5/8 นิ้ว) และยาวไม่น้อยกว่า 2.40 เมตร ถ้าเป็นเหล็กหุ้มด้วยทองแดง ต้องมีความหนาของทองแดงไม่ต่ำกว่า 0.25 มม. และต้องหุ้มอย่างแนบสนิทยึดติดเป็นเนื้อเดียวกันโดยไม่หลุดออกจากกัน และไม่มีปลายเหล็กโผล่ออกมาสัมผัสกับเนื้อดิน เพื่อไม่ให้เหล็กเป็นสนิม และต้องไม่มีการเจาะรูเพื่อยึดทองแดงกับเหล็กให้ติดกัน มิฉะนั้นแท่งเหล็กจะเป็นสนิมตามรูที่เจาะนั้น
- ห้ามใช้อะลูมิเนียมหรือโลหะผสมของอะลูมิเนียมเป็นหลักดิน เนื่องจากผุกร่อนได้ง่าย
- หลักดินที่ดีควรผ่านการทดสอบตามมาตรฐาน UL-467
- การต่อสายดินเข้ากับหลักดินนั้น หัวต่อ, หลักดิน และสายต่อหลักดินควรใช้วัสดุชนิดเดียวกันเพื่อไม่ให้มีปัญหาการกัดกร่อน เช่น หลักดินทองแดงต่อกับสายต่อหลักดินทำด้วยทองแดง วิธีที่ดีที่สุดควรใช้วิธีเชื่อมต่อด้วยการเผาผงทองแดงให้หลอมละลาย (ต้องเทผงจุดชนวนให้อยู่ผิวด้านบนและจุดด้วยประกายไฟจากปืนจุดชนวนเท่านั้น เพราะไม่สามารถจุดด้วยวิธีอื่นได้) ถ้าใช้หัวต่อที่ยึดด้วยแรงกลก็ต้องใช้หัวต่อที่มีส่วนผสมของทองแดง และต้องต่ออย่างมั่นคงแข็งแรงและทนต่อการกัดกร่อนได้เป็นอย่างดี ตัวอย่างของหัวต่อชนิดต่างๆ ตามรูป ทั้งนี้หัวต่อแต่ละชนิดควรต้องผ่านการทดสอบตามมาตรฐาน UL-467 ด้วย
หลักดินที่ดีเมื่อตอกลงดินแล้วต้องมีความต้านทานการต่อลงดินไม่เกิน 5 โอห์ม ตามมาตรฐานของการไฟฟ้านครหลวง
เนื้อดินบริเวณที่ตอกหลักดินที่ดีควรเป็นดินแท้ๆ และต้องไม่ถูกกั้นหรือล้อมรอบด้วยหิน, กรวด, ทราย หรือแผ่นคอนกรีต เพราะเป็นอุปสรรคต่อการแพร่กระจายของประจุไฟฟ้าลงสู่ดิน ทำให้ความต้านทานการต่อลงดินมีค่าสูงเกินกว่ามาตรฐาน (ในกรณีที่ใช้หลักดินตามมาตรฐานการไฟฟ้านครหลวง และสภาพพื้นที่และเนื้อดินไม่เป็นอุปสรรคในดินแล้ว ความต้านทานการต่อลงดินในเขตบริการของการไฟฟ้านครหลวงจะไม่เกิน 5 โอห์มเสมอ โดยไม่ต้องตรวจวัด)
ห้ามใช้ตะปูคอนกรีตตอกเข้าไปในผนังหรือพื้นคอนกรีตแทนหลักดิน เพราะตะปูคอนกรีตไม่สามารถกระจายกระแสไฟฟ้าลงดินเมื่อมีไฟรั่วได้ หลักดินสั้นๆ ขนาด 1 ฟุต ที่ใช้สำหรับอุปกรณ์สื่อสารก็ไม่สามารถใช้เพื่อความปลอดภัยนี้ได้ ซึ่งย่อมไม่สามารถเทียบได้กับหลักดินมาตรฐานยาว 2.40 เมตร เพื่อการต่อลงดินที่ดีได้ หลักดินยิ่งยาวจะตอกได้ลึกและยิ่งให้ความต้านทานดินที่ต่ำ
ตำแหน่งของหลักดินควรอยู่ใกล้กับตู้เมนสวิตช์
ห้ามแช่หลักดินในน้ำ เพราะเมื่อมีไฟรั่วจะแพร่กระจายไปกับน้ำและเกิดอันตรายกับผู้ที่อยู่ในน้ำ ถ้าจำเป็นต้องตอกหลักดินในน้ำต้องตอกให้มิดดิน และสายต่อหลักดินก็ต้องหุ้มฉนวนให้มิดชิดด้วย
ขนาดของสายต่อหลักดินจะขึ้นอยู่กับขนาดของสายเมน และต้องไม่เล็กกว่า 10 ตร.มม.โดยควรมีท่อหรือฉนวนหุ้มอยู่ด้วย
การตอกหลักดินควรตอกให้ลึกที่สุด และถ้าเป็นหัวต่อหลักดินชนิดยึดด้วยแรงกลก็ควรให้หัวต่อโผล่พ้นดิน หรือระดับที่อาจมีน้ำท่วมเพื่อหลีกเลี่ยงการผุกร่อนของหัวต่อ และสามารถตรวจสอบได้ง่าย
หัวต่อชนิดหลอมละลายสามารถตอกให้จมดินได้ แต่ต้องใช้สายต่อหลักดินที่มีเกลียวเส้นใหญ่ และหุ้มฉนวนมิดชิดเพื่อไม่ให้สายเกลียวผุกร่อน