ตำแหน่งเครื่องปรับอากาศ ในห้องนอนที่ดี
เปิดอ่าน 16,387
ปัจจุบันจะหาบ้านสักกี่หลังที่จะสามารถนอนเปิดหน้าต่างคอยรับความเย็นจากอากาศภายนอกบ้านที่จะถ่ายเทเข้ามาในห้องนอนได้ ยิ่งถ้าอยู่ในบ้านจัดสรรด้วยแล้ว หน้าต่างแทนที่จะเปิดบ้าง กลับไปหาผ้าม่านมาปิดบังไว้เพราะไม่อยากให้เพื่อนบ้านมองเข้ามาเห็นเราที่อยู่ในห้องว่ากำลังทำอะไรอยู่ การติดเครื่องปรับอากาศให้กับห้องนอนจึงเป็นเรื่องปกติที่ทำกันทุกบ้าน แต่ทราบกันหรือไม่ว่า การติดเครื่องปรับอากาศให้กับห้องนอนมีเรื่องที่ตามมาให้ยุ่งยากใจมากมายไม่ใช่แค่ว่ามีที่แขวนเครื่องทำความเย็นในห้องแล้วก็จบ ติดในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสมก็เกิดอาการเกะกะสายตา และที่หนักที่สุดคือ ถ้าติดไม่ดีทำให้สุขภาพย่ำแย่โดยไม่รู้ตัว มาดูกันว่ามีเรื่องอะไรบ้าง
อย่างแรก คือ เรื่องขนาดแอร์ซึ่งควรเลือกให้สัมพันธ์กับขนาดปริมาตรอากาศในห้องนอน เช่น ถ้าห้องนอนที่มีขนาดประมาณ 3x3 ม. และเพดานสูงไม่เกิน 2.7 ม. ( ซึ่งเป็นปริมาตร และพื้นที่สำหรับคนหนึ่งคนนอนในหนึ่งคืนสามารถมีออกซิเจนหายใจได้อย่างพอเพียง และตื่นขึ้นมาอย่างสดชื่น) ประมาณว่าใช้เครื่องปรับอากาศขนาด 9,000 บีทียูก็จะเหมาะสม แต่ถ้าผนังห้องโดนแดดในตอนบ่าย หรือมีความร้อนแผ่จากฝ้าเพดานลงมา ก็ควรเพิ่มขนาดเครื่องขึ้นไปอีกสักเล็กน้อย เช่น สัก 10,000 ถึง 12,000 บีทียู เป็นต้น (ก่อนซื้อแอร์ควรให้ข้อมูลขนาดพื้นที่ความสูงรวมถึงสภาพการรับความร้อนแก่คนขายเพื่อให้คำแนะนำเรื่องขนาดเครื่องที่เหมาะสม)
ถัดมาที่สำคัญมากเลยคือ เรื่องของตำแหน่งการติดตั้งเครื่องเป่าลมเย็นภายในห้อง ควรติดอยู่ในตำแหน่งที่สามารถเข้าถึงได้สะดวก ใต้เครื่องปรับอากาศไม่ควรมีตู้หรือเฟอร์นิเจอร์รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดอื่นใดวางเกะกะข้างล่างเพื่อให้ง่ายต่อการเข้าถึงตัวเครื่องเพื่อถอดตะแกรงกรองฝุ่นไปทำความสะอาดรวมถึงไม่เกิดเหตุไฟซ๊อต-ไฟดูดจากน้ำหยดลงเครื่องใช้ไฟฟ้า ไม่มีเฟอร์นิเจอร์ไปบังหรือขวางทิศทางลมเย็นจากเครื่อง ทิศทางลมที่เป่าจากตัวเครื่องควรอยู่ในทิศทางที่ตั้งฉากกับเตียง(พัดขวางลำตัวเวลานอน) และค่อนมาตรงกลางลำตัวหรือไปทางเท้า ไม่ควรให้ทิศทางลมจากเครื่องปรับอากาศเป่าลมเย็นสวนจากปลายเท้าขึ้นมาทางศีรษะซึ่งเวลาเรานอนลมเย็นจะพัดสวนเข้าจมูกตลอด จะทำให้ระบบหายใจทำงานผิดปกติมีโอกาสเป็นหวัดเรื้อรังได้ง่าย
และอีกเรื่องที่สำคัญมากคือ ทุกครั้งขณะที่เครื่องทำความเย็นภายในห้องทำงานจะมีไอน้ำกลั่นตัวเป็นหยดน้ำลงมาที่ถาดรองในตัวเครื่องเป่าลมเย็น ซึ่งถ้าตำแหน่งติดตั้งตัวเครื่องตรงกับภายนอกบ้านก็จะทำให้สะดวกต่อการเจาะผนังยื่นท่อระบายน้ำทิ้งออกไปภายนอกได้สะดวก หรือไม่ก็ควรจะอยู่ใกล้กับระเบียง หรือใกล้กับห้องน้ำ เพื่อที่จะได้สามารถเดินท่อน้ำทิ้งไปยังบริเวณดังกล่าวได้ และที่สำคัญที่สุดคือ อย่าเอาแต่เปิดใช้งานอย่างเดียว ควรถอดแผ่นกรองฝุ่นมาดูดทำความสะอาดทุกๆ 1-2 เดือนเพื่อสุขภาพอนามัย และช่วยให้ตะแกรงดักฝุ่นไม่อุดตัน เครื่องจะได้ไม่ทำงานหนักจนเกินไป
สำหรับตัวเครื่องระบายความร้อนที่ติดตั้งไว้นอกตัวอาคาร ควรให้ระยะทางการเดินท่อจากตัวเครื่องถึงเครื่องทำความเย็นภายในห้องไม่เกินระยะที่กำหนดไว้ (ประมาณ 12-20 ม.แล้วแต่รุ่น และยี่ห้อ) เพื่อประสิทธิภาพการทำงานของปั้มน้ำยาสามารถสูบฉีดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตัวเครื่องระบายความร้อนกรณีติดกับผนังอาคารให้ติดตั้งบนชุดแขวนรองด้วยลูกยางในจุดที่ไม่เกิดการสั่นสะเทือนเวลาเปิดเครื่อง
เลือกติดตั้งชุดอุปกรณ์ขาแขวนกับบริเวณที่เป็นแนวคานเพื่อลดเสียงสะเทือนขณะที่เครื่องทำงานจะดีกว่าการยึดติดกับผนังเฉยๆ ซึ่งจะเกิดเสียงจากการทำงานมากกว่า หรือไม่ก็วางกับพื้น ระเบียง ควรยึดตัวเครื่องอย่างแน่นหนากับแท่นเครื่องด้วยยางรองแท่นเพื่อลดแรงสั่นสะเทือนและเสียงลง จะได้ไม่รบกวนการนอนหลับของเราเวลาที่ปั้มหรือพัดลมทำงาน เท่านี้ก็จะได้อยู่เย็นนอนสบายกันทั้งคืน
สุดท้ายที่สำคัญที่สุด คือ อย่าลืมยกเบรคเกอร์ลงปิดระบบการทำงาน (ที่ทางร้านติดตั้งมาให้ด้วย) ทุกครั้งหลังการเลิกใช้งาน เพราะถ้าปิดเครื่องด้วยรีโมทอย่างเดียว ตัวระบบทั้งหมดยังอยู่ในโหมด Standby (พร้อมทำงานตลอดเวลา) นั่นคือท่านเสียเงินค่าไฟที่ไฟเลี้ยงเครื่องในขณะที่ไม่ใช้งานโดยไม่จำเป็น
ขอบคุณบทความจาก http://www.scgexperience.co.th