ตลาดวโรรส (กาดหลวง)
เปิดอ่าน 3,096
หลายคนมาเชียงใหม่แล้วได้ยินคำว่า ตลาดวโรรสอาจไม่รู้จัก แต่พอได้ยินคำว่า "กาดหลวง" เป็นอันได้ต้องร้อง อ๋ออ กันทุกคน เพราะตลาดแห่งนี้ มีชื่อเสียงไม่แพ้กับตลาดสามชุก และตลาดน้ำเลย ชื่อเสียงกระฉ่อนแบบนี้ คงอยากรู้แล้วใช่ไหมว่า ในกาดหลวงนั้นมีอะไร
ในปัจจุบันตลาดวโรรส(กาดหลวง)เป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของเชียงใหม่ เป็นแหล่งซื้อขายสินค้าต่างๆ ที่นักท่องเที่ยวที่มาเยือนเชียงใหม่ มักจะมาหาซื้อของฝากกัน โดยเฉพาะสินค้าอาหารพื้นเมืองขึ้นชื่อ จำพวกไส้อั่ว แหนม น้ำพริกหนุ่ม แคปหมู ผลิตภัณฑ์ผักผลไม้แปรรูป และชาชนิดต่างๆ ใกล้กับตลาดวโรรสยังมีตลาดต้นลำไยซึ่งเป็นแหล่งจำหน่ายดอกไม้สดของเชียงใหม่
ทำไมถึงชื่อว่ากาดหลวง
ตลาดวโรรสเดิมทีเป็นที่ข่วงเมรุหรือที่ปลงพระศพ และเป็นที่เก็บพระอัฐิของเจ้าเชียงใหม่ทั้งหลาย แต่หลังจากที่พระราชชายาเจ้าดารารัศมีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เสด็จกลับมาเยี่ยมจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีพระราชดำริให้ย้ายพระอัฐิไปบรรจุไว้ที่วัดสวนดอก และได้รวบรวมเงินส่วนพระองค์และเงินจากเจ้าอินทวโรรสฯ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่สมัยนั้น มาลงทุนสร้างตลาดขึ้นในบริเวณข่วงเมรุนั้นและได้พระราชทานชื่อว่า "ตลาดวโรรส" ตามพระนามของเจ้าอินทวโรรส ชาวบ้านมักเรียกกันในชื่อว่า "กาดหลวง" (ซึ่งอาจจะหมายความว่า ตลาดใหญ่หรือว่าตลาดของเจ้าหลวงก็ได้)
ประวัติความเป็นมาของกาดหลวง
หลังจากเจ้าดารารัศมีสิ้นพระชนม์ ในปี พ.ศ. 2476 เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ได้ตั้งบริษัทขึ้นมาจัดการบริหารตลาดวโรรส โดยมีชื่อว่าบริษัท เชียงใหม่พาณิชย์ จำกัด และได้เป็นบริษัทของเจ้านายในสกุล ณ เชียงใหม่ตลอดมา จนถึงเมื่อเกิดสงครามเอเชียอาคเนย์ขึ้น เจ้านายบางท่านจึงได้โอนขายหุ้นบางส่วนให้ห้างหุ้นส่วนอนุสาร เชียงใหม่ เพื่อเข้าไปช่วยพัฒนาและบริหารงานตลาดให้มีความทันสมัยมากขึ้น เมื่อสงครามสิ้นสุดลง ทางผู้ถือหุ้นก็ได้มอบหมายให้ ศ. อัน นิมมานเหมินท์ แห่งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและบริษัทออกแบบต่างชาติเข้ามาทำการค้นคว้าและออกแบบสร้างตลาดวโรรสให้เป็นตลาดเต็มรูปแบบและมีความทันสมัย โดยพัฒนาคู่กับตลาดต้นลำไยที่อยู่ข้างกัน โดยเริ่มดำเนินการในปีพ.ศ. 2492 และทำให้ทั้งสองตลาดนี้เจริญเฟื่องฟูและมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันในวงกว้าง
ทว่าในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2511 ได้เกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่และทำให้ทั้งสองตลาดนี้วอดวายไปเสียหมด ถือเป็นการสิ้นสุดของตลาดวโรรสในยุคแรก หลังจากนั้นทางเจ้านายสกุล ณ เชียงใหม่ก็ไม่ได้มีความประสงค์จะลงทุนทำตลาดอีกต่อไป จึงได้โอนขายให้ทั้งหมดให้แก่ห้างหุ้นส่วนอนุสารเชียงใหม่ และบริษัทอนุสารจำกัด ทางบริษัทจึงได้มอบหมายให้ ศ. อัน นิมมานเหมินท์ ผู้ออกแบบตลาดในครั้งแรก เป็นผู้ออกแบบตลาดขึ้นมาใหม่โดยทำเป็นตลาดแนวสูงเพื่อการใช้พื้นที่ให้คุ้มค่าสูงสุด
โดย ศ. อัน ได้ศึกษาดูงานจากตลาดต่างประเทศ ทั้งที่มาเลเซีย สิงคโปร์ และฮ่องกง จากนั้นได้สร้างตลาดให้ตรงกลางโปร่งโล่งและมีโครงหลังคาแบบฟันเลื่อยเพื่อให้รับแสงสว่างธรรมชาติได้เต็มที่ พร้อมกับมีการระบายอากาศให้ถ่ายเทตลอดเวลา ซึ่งในสมัยนั้นตลาดวโรรสนับเป็นตลาดที่สวยงามและทันสมัยที่สุดของจังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือ อีกทั้งเป็นตลาดเดียวที่มีบันไดเลื่อนตรงกลางตลาด (ปัจจุบันใช้งานไม่ได้แล้ว) ตัวตลาดวโรรสใหม่นี้เปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2515 และได้เป็นที่จับจ่ายใช้สอยของประชาชนชาวเชียงใหม่และผู้มาเยือนมาตลอดจนถึงปัจจุบันนี้
สถานที่ตั้งของตลาดวโรรส
ตลาดวโรรส ตั้งอยู่ที่ ถนนวิชยานนท์ ตำบลช้างม่อย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ทิศเหนือติดถนนช้างม่อย ทิศใต้ติดตรอกเล่าโจ๊ว ทิศตะวันออกติดถนนวิชยานนท์ และทิศตะวันตกติดถนนข่วงเมรุ บริหารงานโดย บริษัทเชียงใหม่พาณิชย์ จำกัด (ในเครือหสน. อนุสาร) ตัวอาคารมีสามชั้น อีกทั้งมีชั้นใต้ดินและชั้นลอย มีแผงร้านค้าประมาณ 500 แผง
ชั้นใต้ดิน ขายอาหารและเครื่องดื่ม เด่นที่ขนมจีนซึ่งมีหลายร้านให้เลือก
ชั้น 1 จำหน่ายของฝากและของที่ระลึก มีพวกอาหารพื้นเมือง เช่น น้ำพริกหนุ่ม แคบหมู หมูยอ ผักสดและผลไม้เมืองหนาว
ชั้นลอย 1 1/2 มีส่วนที่เป็นเขียงหมู และด้านหน้าที่ขายเสื้อผ้า รองเท้า และพวกเครื่องนอน
ชั้น 2 ขายเสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้า กระเป๋า เครื่องสำอางค์ และรับจ้างตัดเย็บผ้า
ชั้นลอย 2 1/2 เป็นเสื้อผ้าพื้นเมือง และรองเท้าแฟชั่น ปัจจุบัน ลานตรงกลางจัดเป็นลานโปรโมชั่น ขายสินค้าลดราคา
ชั้น 3 จำหน่ายเสื้อผ้าพื้นเมืองและเสื้อผ้าสำเร็จรูป กระเป๋า มีร้านขายอาหารและเครื่องดื่มตามสั่ง และห้องสมุดสำหรับเด็ก
หมายเหตุ: พื้นที่ของตลาดวโรรสไม่ได้รวมตลาดดอกไม้ของเทศบาล และตลาดต้นลำไยที่อยู่ฝั่งตรงข้าม
อันจะเห็นได้ว่าตลาดวโรรสแห่งนี้เป็นอีกแหล่งจับจ่ายซื้อของสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการหาซื้อของฝากเมืองเชียงใหม่ได้หลากหลายเลยทีเดียว สำหรับใครที่มาเที่ยวเชียงใหม่แล้วยังไม่มีโอกาสได้แวะมาเที่ยวชมก็ขอแนะนำอีกหนึ่งสถานที่ที่น่าเก็บเกี่ยวบรรยากาศอันคึกคักอีกแห่งหนึ่งจ้า