จ้างช่างแอร์มาล้างแอร์ ถ้าจะล้างให้สะอาด ต้องล้างส่วนไหนเป็นพิเศษบ้าง
แอร์ จัดเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีการใช้งานหนักเป็นอันดับต้นๆ ภายในบ้าน เนื่องด้วยอากาศที่ร้อนอบอ้าวแทบจะตลอดทั้งปีสำหรับประเทศไทย ยิ่งทำให้แอร์มีการใช้งานอย่างหนักหน่วง เพื่อมอบอากาศเย็นสดชื่นให้กับผู้อยู่อาศัย ด้วยเหตุนี้ แอร์จึงเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ควรดูแล บำรุงรักษาเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีอายุการใช้งานยาวนานและยังทำงานได้ประสิทธิภาพดี โดยการล้างแอร์เป็นประจำ นับว่าเป็นอีกหนึ่งวิธีการดูแลรักษาแอร์อย่างเหมาะสม แต่หากไม่รู้จะเริ่มต้นล้างแอร์จากจุดไหน ให้บทความนี้เป็นคำตอบ
ทำไมต้องล้างแอร์ หรือบำรุงรักษาแอร์
โดยปกติแล้ว แอร์จะมีอายุการใช้งานประมาณ 10-15 ปี ขึ้นอยู่กับความถี่ และการบำรุงรักษา หากผู้ใช้งานมีการบำรุงรักษาที่ดี ก็จะยิ่งช่วยเพิ่มอายุการใช้งานของแอร์ให้มากขึ้น นอกจากนี้ยังได้ผลประโยชน์ในทางอ้อมนั่นก็คือ หากแอร์มีประสิทธิภาพดี จะช่วยลดการใช้พลังงาน นำมาสู่การลดค่าใช้จ่ายจำพวกค่าไฟ และลดโลกร้อนได้อีกด้วย ซึ่งหนึ่งในวิธีหลักที่จะช่วยบำรุงรักษาแอร์ให้มีประสิทธิภาพดีและมีอายุการใช้งานยาวนานก็คือการล้างแอร์
3 องค์ประกอบหลักของแอร์ที่ควรล้าง
เพราะการล้างแอร์ มีรายละเอียดมากกว่าแค่การทำความสะอาด Filter เหมือนที่เราเข้าใจ และนี่คือ 3 องค์ประกอบหลักที่ควรให้ความใส่ใจเมื่อทำการล้างแอร์
3.1 แผ่นกรอง (Filter)
เป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญมาเป็นอันดับ 1 เนื่องจากแผ่นกรองจะเป็นตัวกรองอากาศที่ไหลผ่านเข้าสู่แอร์ เพื่อกรองสิ่งไม่พึงประสงค์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ฝุ่น ละอองเกสรดอกไม้ในอากาศ ขนสัตว์ หรืออนุภาคขนาดเล็กชนิดต่างๆ ที่ลอยมาในอากาศและเรามีโอกาสที่จะหายใจเข้าไป แผ่นกรองจะทำหน้าที่ดักจับสิ่งต่างๆ เหล่านั้นไว้เพื่อไม่ให้ปนเปื้อนและหมุนเวียนอยู่ภายในบ้าน สร้างอากาศที่มีคุณภาพดี โดยแผ่นกรองจะมีชนิดและความละเอียดในการกรองที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ขนาดของการกรองตาม MERV (Minimum Efficiency Reporting Value) ที่ระดับ 9-12 captures มากกว่า 1 ไมครอน เหมาะสำหรับแอร์ที่ใช้ในครัวเรือน โดยการล้างแผ่นกรองแอร์ จะช่วยลดการใช้พลังงานของแอร์ลง 5-15%
แผ่นกรองควรล้างทำความสำอาดทุกๆ 6 สัปดาห์ ในช่วงที่ใช้งานแอร์หนัก อย่างเช่นฤดูร้อน โดยที่ไม่จำเป็นต้องรอรอบของการล้างแอร์ หรือล้างทุกๆ 3 เดือน ในช่วงเวลาปกติของปี ทั้งนี้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับที่ตั้ง และสิ่งแวดล้อมของอากาศโดยรอบเช่นเดียวกัน ว่ามีมลพิษแค่ไหน หากมีมลพิษมาก ก็ควรล้างบ่อยขึ้น วิธีล้างก็ไม่ยาก
- ใช้แปรงขนอ่อนหรือเครื่องดูดฝุ่น กำจัดฝุ่นออกก่อน
- แช่แผ่นกรองในน้ำที่ผสมน้ำยาทำความสะอาดเป็นเวลา 30 นาที
- ล้างทำความสะอาดฝุ่นตามปกติ
- ผึ่งให้แห้ง ก่อนนำกลับมาติดใหม่
3.2 คอยล์ (Coils)
ในการทำงานของแอร์ จะประกอบไปด้วยคอยล์สองส่วนคือ คอยล์เย็น (Air Conditioners Evaporator) และคอยล์ร้อน (Condenser coils) ซึ่งทั้งสองส่วนสามารถก่อให้เกิดการสะสมของฝุ่นและคราบสกปรกต่างๆ เวลาที่ล้างแอร์ จึงควรให้ความสำคัญในการทำความสะอาดคอยล์ด้วย เนื่องจากคราบสกปรกต่างๆ จะไปลดการไหลเวียนของอากาศ และคราบสกปรกสะสมมากจะทำให้กลายเป็นฉนวน ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการแลกเปลี่ยนความร้อน ที่เป็นหน้าที่หลักของคอยล์ลดลง นอกจากนี้คราบสกปรกที่สะสมที่คอยล์ ยังเป็นจุดที่ก่อให้เกิดกลิ่นอับชื้นภายในบ้านได้
ควรหมั่นสังเกตความสกปรกของคอยล์โดยล้างทำความสะอาดคอยล์อย่างน้อยปีละครั้ง แต่ถ้าหากพื้นที่ภายนอกตั้งอยู่ในบริเวณที่มีฝุ่นมาก ควรเพิ่มความถี่เป็นปีละ 2 ครั้ง พร้อมกับการล้างแอร์ ซึ่งวิธีการล้างคอยล์สามารถทำได้โดย
- ฉีดพ่นสเปรย์ล้างคอยล์ที่มาให้รูปแบบโฟมหรือน้ำยาล้างคอยล์ให้ทั่ว
- พรมน้ำสะอาดตามจนกว่าฟองซึมเข้าไปข้างในจนหมด หรือใช้วิธีใช้กระบอกฉีดน้ำ ฉีดทำความสะอาดแผงคอยล์
- ตามด้วยการเป่าลม หรือทิ้งไว้ให้แห้ง
3.3 พัดลมโพรงกระรอก (Cross flow fan)
พัดลมโพรงกระรอก จะมีหน้าที่เป่าความเย็นที่ได้จากคอยล์เย็นออกมาจากเครื่องแอร์ เพื่อให้อากาศภายในห้องเย็นขึ้น ทำให้พัดลมโพรงกระรอกมีโอกาสที่จะเกิดฝุ่นสะสมได้พอๆ กับอุปกรณ์ส่วนอื่นๆ ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว เมื่อเราล้างแอร์ ก็ควรถอดพัดลมโพรงกระรอกออกมาล้างด้วยเช่นกัน
สำหรับการทำความสะอาดพัดลมโพรงกระรอกสามารถทำได้ 2 วิธีคือ
- การถอดพัดลมโพรงกระรอกออกมาล้างด้านนอก โดยการฉีดน้ำล้าง
- หากไม่มีการถอดออกมาล้างแยก ก็จะใช้วิธีฉีดน้ำเข้าไปเพื่อล้างคราบฝุ่นออกแทน
นอกเหนือไปจาก 3 องค์ประกอบหลักๆ ที่ควรล้างเมื่อทำการล้างแอร์แล้ว การดูแลบำลุงรักษาส่วนประกอบอื่นๆ ของแอร์ก็มีความสำคัญเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น
- Coil Fins: ที่เป็นครีบอะลูมิเนียมในส่วนของคอยล์ ซึ่งจะงอง่าย และทำให้ไปขัดขวางการไหลของอากาศ วิธีบำรุงรักษาคือการใช้ ‘Fin Comb’ ในการทำให้ Fin กลับสู่สภาพเดิม
- Condensate Drains: การอุดตันในท่อระบายน้ำทิ้งจะทำให้ระบบไม่สามารถลดความชื้นได้ ก่อให้เกิดความชื้นสะสมภายในห้องและทำให้เกิดความเสียหายกับเฟอร์นิเจอร์ พรม หรือผนังได้
ทุกครั้งที่ล้างแอร์ อย่าลืมให้ความสำคัญกับการล้างทั้ง 3 ส่วนประกอบนี้ รวมไปถึงตรวจสอบและบำรุงรักษาส่วนประกอบอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อยืดอายุการใช้งานของแอร์ให้ยาวนานขึ้น