จะซื้อแอร์ซักเครื่อง ควรจะรู้อะไรบ้าง?
การจะซื้อแอร์ซักเครื่อง อันที่จริง ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ยุ่งยากอะไร เพราะมีผู้ขายอยู่ดาษดื่นสามารถเดินหาซื้อได้จากห้างสรรพสินค้าหรือร้านขายเครื่องไฟฟ้าทั่ว ๆ ไป ปัญหาอยู่ที่ว่าเราจะเชื่อผู้ขายได้แค่ไหน เครื่องแอร์ที่ขายกันก็มีทั้งที่ราคาแค่บีทียูละบาทเดียว จนถึงบีทียูละ 2-3 บาท ข้อนี้ซิทำให้เราตัดสินใจยาก ไม่ใช่วาจะห่วงเรื่องเงินหรอกนะ แต่ไม่ว่าใครก็คงไม่อยากโดนเขาหลอกจริงไหม
จะซื้อแอร์ซักเครื่อง ควรจะรู้อะไรบ้าง?
1. ใช้แอร์ขนาดเท่าไร
บวก ลบ คูณ หาร ง่าย ๆ โดยกรอกตัวเลขพื้นที่ต่าง ๆ ลงในตารางที่เห็นนี้ ก็จะได้ขนาดประมาณของเครื่องแอร์ที่ต้องการ เมื่อเวลาเลือกซื้อเครื่องแอร์ ก็ไม่ต้องคิดมาถึงขั้นที่ว่าเครื่องแอร์ที่จะซื้อจะต้องมีขนาดตามที่คำนวณได้นี้พอดี จะมากหรือน้อยกว่าบ้างคงไม่เป็นไร แต่ให้ใช้คอมมอนเซ็นส์เสียหน่อย เช่น ถ้าฝาบ้านหรือพื้นบ้านเป็นไม้ หรือคนเยอะก็ควรจะใช้เครื่องโตหน่อย และถ้าฝาบ้านหรือเพดานมีฉนวนไมโครไฟเบอร์ หรือมีชายคากันแดดร่มตลอดวัน ก็ใช้เครื่องเล็กหน่อยได้
แอร์ที่ใช้สำหรับห้องนอน ควรจะเลือกขนาดให้เล็กกว่าที่คำนวณได้ เพราะการคำนวณคิดตอนกลางวัน เมื่อใช้กลางคืนเครื่องจะได้ไม่ตัดต่อบ่อยเกินไป และไม่รู้สึกเย็นจนเกินไป ถ้าตอนกลางวันกลัวจะเย็นช้า ก็ควรใช้ฉนวนไมโครไฟเบอร์ช่วย หรือทำชายคาบังแดดตามหน้าต่างจะดีกว่าเท่ากับลงทุนครั้งเดียวแต่ประหยัดค่าไฟไปได้ตลอด เครื่องแอร์ก็มีอายุนานขึ้น
สรุป
ถ้าใช้เป็นห้องนอน
- - เลือกใช้เครื่องสำหรับกลางคืน ขนาดประมาณ 16,000 บีทียู/ชั่วโมง ก็ควรจะพอถ้าใช้กลางวัน และตามหน้าต่างมีชายคาบังแดดก็ควรจะพอ
- - แต่ถ้าอยากจะให้เย็นเร็ว และอยากจะใช้กลางวัน และไม่มีชายคาบังแดด ก็คงจะต้องใช้ขนาดประมาณ 19,000 บีทียู/ชั่วโมง
ถ้าใช้เป็นห้องทำงาน
- - ถ้าไม่มีชายคาบังแดดใช้ขนาดประมาณ 19,000 บีทียู/ชั่วโมง
- - ถ้ามีชายคาบังแดดใช้ขนาดประมาณ 16,000 บีทียู/ชั่วโมง
2. สำรวจระบบไฟฟ้าว่าพอหรือไม่
แอร์ขนาด 1 ตัน (12,000 บีทียู/ชั่วโมง) โดยปกติจะกินไฟประมาณ 7-8 แอมแปร์ ปกติจะต้องมีมิเตอร์ไฟฟ้าขนาด 15/30 (ปกติ 15 แอมแปร์ สูงสุดได้ถึง 30 แอมแปร์) ก็จะติดแอร์ได้ประมาณ 2 ตัน 1 เครื่อง แอมแปร์ส่วนที่เหลือจากแอร์เอาไว้สำหรับอุปกรณ์ไฟฟ้าอื่น ๆ หรือถ้ามีมิเตอร์ไฟฟ้า 30/60 (ปกติ 30 แอมแปร์ สูงสุดได้ถึง 60 แอมแปร์) ก็จะติดแอร์ได้ประมาณ 2 ตัน 3 เครื่อง หรือถ้ามีมิเตอร์ไฟฟ้า 50/100 (ปกติ 50 แอมแปร์สูงสุดได้ถึง 100 แอมแปร์) ก้จะติดแอร์ได้ประมาณ 2 ตัน 5 เครื่อง ถ้าเปิดแอร์ไม่พร้อมกัน ก็อาจได้มากเครื่องกว่านี้ (แต่ถ้าบังเอิญเปิดพร้อม ๆ กันก็อาจมีปัญหาได้นะครับ)
ติดต่อช่างไฟฟ้า แล้วติดตั้งอุปกรณ์ฟิวส์หรือเซอร์กิตเบรกเกอร์และสายไฟให้มีขนาดที่ถูกต้องเพื่อความปลอดภัย
3. ข้อพิจารณาเปรียบเทียบเครื่องปรับอากาสยี่ห้อต่าง ๆ
คุณภาพ สอบถามจากผู้ที่เคยใช้เครื่องปรับอากาศยี่ห้อที่ท่านสนใจ ท่านจะได้ข้อมูลที่ดี เพราะคนที่เคยใช้เครื่องปรับอากาศยี่ห้อนั้น ย่อมจะทราบว่าเครื่องนั้นดีหรือไม่
ทดสอบเครื่อง ให้ผู้ขายทดลองเดินเครื่องตัวอย่าง ลองปรับปุ่มต่าง ๆ พร้อมทั้งสอบถามรายละเอียดต่าง ๆ ที่ต้องการจากผู้ขาย ดูว่ารูปร่างเครื่องและอุปกรณ์ต่าง ๆ ถูกใจหรือไม่ เสียงดังหรือไม่
ดูรายละเอียดทางด้านเทคนิค รายละเอียดที่ควรสนใจได้แก่
ก. คอมเพรสเซอร์ – คอมเพรสเซอร์ “เทคัมเช่” หรือคอมเพรสเซอร์ของญี่ปุ่นจะจัดว่ามีคุณภาพค่อนข้างดี คอมเพรสเซอร์ประเภทโรตารี่หรือสโครลจะกินไฟน้อยและเงียบกว่าแบบลูกสูบ
ข. การกินไฟ – ลองเปรียบเทียบแอมแปร์ของเครื่องยี่ห้อต่าง ๆ
ค. ความแข็งแรง – ตรวจดูความแข็งแรงทั่วไป เครื่องที่ใช้ส่วนประกอบพลาสติกหรือไฟเบอร์กลาสจะไม่เป็นสนิม ถ้าตัวถังเป็นเหล็กจะต้องผ่านการอบสี และไม่เป็นรอยขีดข่วนได้โดยง่าย
ง. อุปกรณ์ประกอบต่าง ๆ – ราคาเครื่องที่แตกต่างกัน ขึ้นกับอุปกรณ์ประกอบต่าง ๆ เหล่านี้ด้วย ถ้ามีครบละก็ดีที่สุด ดังนี้
- ดรายเออร์ – สำหรับเก็บความชื้นในระบบน้ำยา
- ไซท์กลาส – สำหรับใช้ดูปริมาณน้ำยาและความชื้นของน้ำยา (อุปกรณ์ช่วยในการซ่อมบำรุง)
- ไทม์เมอร์ – อุปกรณ์ป้องกันไม่ให้เครื่องตัดแล้วต่อทันที เพราะถ้าเครื่องตัดแล้วต่อทันที คอมเพรสเซอร์จะทำงานหนัก
- โอเวอร์โหลด – อุปกรณ์สำหรับตัดคอมเพรสเซอร์ เมื่อกระแสไฟฟ้าสูงเกินปกติ
บริษัทผู้ขาย ข้อนี้สำคัญมาก เพราะถ้าท่านซื้อเครื่องกับใครก็จะมีความผูกพันกับผู้ขายจะต้องมีบริการภายหลังการขายที่ดี ถ้าท่านมีปัญหากับเครื่องจะต้องสามารถพึงบริการจากผู้ขายได้ ถ้าเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงหรือถ้าท่านรู้จักผู้ขายเป็นการส่วนตัวก็จะสะดวกขึ้น