คุณสมบัติของสารความเย็น น้ำยาแอร์
สารทำความเย็นหรือที่ช่างแอร์เรียกกันสั้นๆว่า น้ำยาแอร์ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยได้บัญญัติศัพท์คำนี้เรียกว่า สารความเย็น และมีความหมายว่า "เป็นสารที่ทำให้เกิดความเย็นโดยการดูดความร้อนเมื่อขยายตัวหรือเปลี่ยนสภาพจากของเหลวเป็นไอ และถ้าสารทำความเย็นนี้กลายเป็นไอ ถ้าได้ระบายความร้อนออกจะคืนสภาพเป็นของเหลวอีก"
คุณสมบัติของสารทำความเย็น
สารทำความเย็น โดยต่อไปนี้จะใช้คำว่า "น้ำยาแอร์" เป็นสารเหลวที่มีคุณสมบัติในการทำความเย็น โดยการดูดความร้อนจากวัตถุหรือสิ่งของที่ต้องการทำให้เกิดความเย็น เพราะฉะนั้นน้ำยาแอร์ที่ดีจึงต้องมีคุณสมบัติทางฟิสิกส์และเคมีมีความปลอดภัยในการใช้งานและประหยัดด้วย
ความปลอดภัย
ความปลอดภัยเป็นที่แรกที่เรา หรือผู้ใช้งานต้องคำนึงถึง สารทำความเย็นบางชนิดมีคุณสมบัติในการทำความเย็นดี แต่มีขีดจำกัดในการใช้งาน สารทำความเย็นที่ดีต้องไม่มีปฎิกิริยาทางเคมี ไม่ไวไฟ ไม่ระเบิดง่าย และที่สำคัญคือห้ามเป็นพิษ และไม่มีผลด้านลบต่อต่ออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องในท่อทางเดินหรืออากาศ
ความเป็นพิษของน้ำยาแอร์
ความเป็นพิษของน้ำยาแอร์ ความเป็นพิษจะขึ้นอยู่กับปริมาณ และระยะเวลาที่สารทำความเย็นถูกผสมในอากาศ น้ำยาแอร์บางชนิดจะเป็นพิษรุนแรงต่อสิ่งมีชีวิต อาจทำให้ตายหรือพิการได้เลย แม้จะใช้ในปริมาณที่เล็กน้อย น้ำยาแอร์บางชนิดเป็นพิษอย่างอ่อนๆ แต่จะมีพิษร้ายแรงก็ต่อเมื่อผสมกับอากาศ แต่ว่าน้ำยาแอร์ชนิดนี้จัดอยู่ในประเภทที่ปลอดภัย (Fluorocarbon) ฟรีออน
การระเบิดของสารทำความเย็น
การระเบิดของสารทำความเย็น น้ำยาแอร์มีส่วนประกอบของไฮโดรคาร์บอน จะไวไฟและระเบิดอย่างรวดเร็ว ผู้ที่ใช้น้ำยาแอร์ควรเป็นผู้ที่ชำนาญเป็นพิเศษ แต่สารทำความเย็นแบบแอมโมเนีย เป็นแก๊สที่ติดไฟ แต่ระเบิดได้ยาก จึงค่อนข้างปลอดภัย ซึ่งในปัจจุบันแอมโมเนียเป็นสารชนิดเดียวที่ยังคงใช้กันอยู่ในน้ำยาแอร์ เพราะมีกลิ่นฉุน ถ้ามีการรั่วจะทราบได้ในทันที
คุณสมบัติอื่นๆของน้ำยาแอร์
- ความร้อนแฝงของการกลายเป็นไอ น้ำยาแอร์ที่ดีต้องมีค่าความร้อนแฝงของการกลายเป็นไอสูง เพราะเมื่อค่าความร้อนแฝงของการกลายเป็นไอมาก จำนวนสารทำความเย็นที่ใช้ก็จะน้อยลง ทำให้ในปัจจุบันเราสามารถลดขนาดของมอเตอร์คอมเพรสเซอร์ได้
- ปริมาตรจำเพาะของสารทำความเย็นในสถานะแก๊ส ข้อนี้เป็นผลจากข้อแรก ถ้าความร้อนแฝงการกลายเป็นไอมาก จะทำให้ปริมาตรจำเพราะน้อย การขยายตัวเป็นแก๊สใช้พื้นที่น้อยลง เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่คอมเพรสเซอร์
- อัตราการอัดของลูกสูบ ถ้าอัตราการอัดของลูกสูบต่ำ กำลังของเครื่องก็จะต่ำลง แต่ประสิทธิภาพทางปริมาตรสูง ทำให้เราสามารถลดขนาดของคอมเพรสเซอร์ลงได้
- ความร้อนจำเพาะของสารทำความเย็นในสถานะของเหลว จะมีค่าต่ำ และเมื่ออยู่ในสถานะแก๊สค่าความร้อนจำเพาะจะมีค่าสูง ทั้งสองอย่างนี้เป็นผลดีในชุดแลกเปลี่ยนความร้อนเพื่อการทำ Super Heat และทำซับคูลของน้ำยาแอร์ในระบบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบทำความเย็นให้ดีขึ้น