ข้อมูลการทำสุญญากาศระบบ หรือการทำแวคคั่ม
การทำสุญญากาศระบบ (Evacuating the System) หรือที่เรียกว่า “การทำแวคคั่ม” จะกระทำภายหลังจากการตรวจรั่วระบบ แต่ต้องทำก่อนที่จะชาร์จสารความเย็นเข้าในระบบ การทำสุญญากาศเป็นการใช้เครื่องปั๊มสุญญากาศ (Vaccum Pump) ดูดเอาอากาศและความชื้นภายในระบบออกให้หมด ถ้าเป็นระบบเก่าก็รวมถึงการขจัดเอาสารความเย็นที่เสื่อมคุณภาพแล้วออกจากระบบ เพื่อให้แน่ใจว่าภายในระบบเป็นสุญญากาศอย่างแท้จริง
เครื่องมือและเครื่องวัดที่จำเป็นต้องใช้ในการทำสุญญากาศระบบประกอบด้วย เครื่องปั๊มสุญญากาศและเครื่องวัดสุญญากาศที่เที่ยงตรง ไม่ควรใช้คอมเพรสเซอร์เป็นเครื่องปั๊มสุญญากาศหรือใช้คอมเพรสเซอร์ของระบบทำสุญญากาศด้วยตัวเอง เพราะถ้าทำสุญญากาศได้ไม่ถึงระบบแล้ว จะเกิดปัญหาต่อระบบเครื่องทำความเย็นขึ้นภายหลัง
ในขณะที่กำลังทำสุญญากาศระบบ
ค่าความดันของเกจวัดความดันต่ำจะอ่านค่าได้ต่ำกว่า 0 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว เกจจะแสดงค่าให้ทราบว่าในระบบเป็นสุญญากาศ ซึ่งเข้าใจได้อย่างง่าย ๆ ว่าความดันในระบบขณะนี้ต้องน้อยกว่าค่าความดันบรรยากาศ
เห็นได้อย่างชัดเจนว่าในการทำสุญญากาศนั้น อากาศถูกดูดออกจากระบบ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดของการทำสุญญากาศก็คือ ต้องดูดเอาความชื้นออกจากในระบบให้หมดเช่นกัน ดังได้กล่าวแล้วแล้วว่า การลดความดันที่ผิวหน้าของของเหลว จะทำให้จุดเดือดของของเหลวนั้นลดต่ำลงด้วยกรณีของเหลว เช่น น้ำ เมื่อถูกลดความดันที่ผิวหน้า จุดเดือดของน้ำจะลดต่ำลง ฉะนั้นแม้ว่าจะมีความชื้นอยู่ในระบบเครื่องทำความเย็น เมื่อระบบถูกทำสุญญากาศ ความดันในระบบจะลดต่ำลงความชื้นที่เหลืออยู่ในระบบจะถูกเปลี่ยนสถานะง่ายเข้า
ขณะที่ระบบใกล้สุญญากาศหรือที่ความสูงของปรอทใกล้ 29 นิ้วปรอท น้ำจะมีจุดเดือดที่ -17.77 องศาเซลเซียส นี่เป็นข้อยืนยันอย่างแน่นอนว่า ในการทำสุญญากาศระบบ ถ้าใช้เวลาเพียงพอและเครื่องปั๊มสุญญากาศมีขีดความสามารถดีพอแล้ว ความชื้นในระบบจะถูกดูดปนออกมาหมดด้วย
ถ้าเครื่องปั๊มสุญญากาศมีขีดความสามารถดีพอ ทำสุญญากาศได้ถึง 29 นิ้วปรอทแล้ว การทำสุญญากาศของระบบสามารถใช้เวลาน้อยลงได้ แต่ถ้าเครื่องปั๊มสุญญากาศมีขีดความสามารถน้อยกว่า ก็จำเป็นต้องใช้เวลาในการทำสุญญากาศนานหน่อย อย่างไรก็ตาม เครื่องปั๊มสุญญากาศต้องทำสุญญากาศได้ถึง 28 นิ้วปรอทเป็นอย่างน้อย จึงจะสามารถทำให้ภายในระบบไม่มีความชื้นหลงเหลืออยู่เลย
ในระหว่างการทำสุญญากาศ
สามารถตรวจรั่วระบบได้ด้วยโดยการปิดวาล์วทั้งสองของเกจแมนิโฟลด์ ซึ่งขณะนี้เครื่องปั๊มสุญญากาศจะถูกตัดออกจากระบบ ให้สังเกตค่าความดันที่อ่านได้บนเกจวัดความดันด้านต่ำ ทิ้งไว้ประมาณ 5 นาที ถ้าค่าความดันสูงขึ้นกว่าเดิมเกินกว่า 1 นิ้วปรอท แสดงว่าจะต้องมีการรั่วที่ใดที่หนึ่งของระบบ ถ้าค่าความดันเกจคงอยู่ที่เดิม แสดงว่าระบบไม่รั่วให้เปิดวาล์วทั้งคู่ของเกจแมนิโฟลด์อีกครั้งหนึ่ง และเดินเครื่องปั๊มสุญญากาศต่อ เมื่อระบบทำสุญญากาศเรียบร้อยแล้ว ก็พร้อมที่จะชาร์จสารความเย็นเข้าในระบบต่อไป ในการหยุดการทำสุญญากาศ ต้องปิดวาล์วทั้งคู่ของเกจแมนิโฟลด์ให้อยู่ในตำแหน่งปิด ก่อนหยุดเครื่องปั๊มสุญญากาศแล้วจึงปลดสายกลางของเกจแมนิโฟลด์ที่ติดอยู่กับเครื่องปั๊มสุญญากาศออกอีกทางหนึ่ง