ข้อควรรู้ เรื่องการดูดเก็บน้ำยาแอร์ ไว้ในระบบ (System Pump Down)
เปิดอ่าน 20,670
การดูดเก็บน้ำยาแอร์ไว้ในระบบ (system pump down) คือการปฏิบัติโดยให้ระบบทำงานเพื่อดูดน้ำยาแอร์ทั้งหมดเข้าไปเก็บที่อุปกรณ์เก็บน้ำยาแอร์เหลวและคอนเดนเซอร์ ทำให้เราไม่ต้องปล่อยสาทำความเย็นทิ้งเมื่อต้องการบริการระบบ ซึ่งนอกจากประโยชน์ในด้านความประหยัดแล้วยังเป็นการช่วยป้องกันปัญหาการทำลานโอโซนในชั้นบรรยากาศ
ข้อควรรู้
- สาเหตุที่จำเป็นจะต้องทำการดูดเก็บน้ำยาแอร์ไว้ในระบบ เช่น กรณีที่ต้องการย้ายเครื่องทำความเย็นหรือเครื่องปรับอากาศและจำเป็นจะต้องมีการตัดต่อท่อน้ำยาแอร์ หรือกรณีที่ต้องการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ในระบบที่ชำรุด เช่น อุปกรณ์ดูดเก็บความชื้น (drier) ช่องกระจกดูน้ำยา (sight glass) หรือลิ้นลดความดัน ซึ่งการปฏิบัติงานดังกล่าวไม่สามารถกระทำได้ถ้ามีน้ำยาแอร์ค้างอยู่ในระบบ
- ลักษณะของวาลว์บริการที่ไม่สามารถทำการปฏิบัติเพื่อดูดเก็บน้ำยาแอร์ไว้ในระบบ ดังนี้
- ใช้วาล์วบริการชนิดวาล์วลูกศรติดตั้งในระบบทั้งด้านความดันต่ำและความดันสูง
- ใช้วาล์วบริการชนิดปรับด้วยมือติดตั้งที่คอมเพรสเซอร์ทั้งทางด้านดูดและด้านส่ง
การดูดเก็บและฟื้นฟูสภาพน้ำยาแอร์
การดูดเก็บน้ำยาแอร์จากระบบ (recovery refrigerant) เป็นวิธีปฏิบัติเมื่อต้องการซ่อมหรือบริการระบบโดยการใช้เครื่องดูดเก็บน้ำยาแอร์ (recovery machine) ทำการดูดน้ำยาแอร์จากระบบเข้ามาเก็บไว้ในถังเก็บซึ่งเป็นถังชนิดที่สามารถอัดหรือเติมน้ำยาแอร์ใหม่ได้ (refillable refrigerant tank หรือ recovery cylinder) ซึ่งปกติจะใช้สัญลักษณ์สีที่ถังเป็นสีเทาที่ด้านล่างและสีเหลืองที่ด้านบนของถัง ทำให้ไม่ต้องปล่อยน้ำยาแอร์ทิ้งสู่บรรยากาศ เป็นวิธีปฏิบัติแทนการดูดเก็บน้ำยาแอร์ไว้ในระบบ (pump down) ซึ่งจะปฏิบัติได้ต้องอาศัยการทำงานของระบบ ส่วนการนำน้ำยาแอร์กลับไปใช้งานใหม่ (recycle refrigerant) เป็นการปฏิบัติเพื่อดูดเก็บน้ำยาแอร์จากระบบมาทำการฟื้นฟูสภาพก่อนจะเติมกลับคืนไปใช้งานใหม่
เหตุผลในการดูดเก็บน้ำยาแอร์จากระบบ
ในปัจจุบัน ช่างเครื่องทำความเย็นจำเป็นที่จะต้องทำการดูดเก็บน้ำยาแอร์จากระบบแทนการปล่อยทิ้งสู่บรรยากาศ เนื่องจากเหตุผลในด้านต่าง ๆ ดังนี้
- ความประหยัด เนื่องจากปัญหาเรื่องน้ำยาแอร์ในปัจจุบันมีราคาแพง โดยเฉพาะน้ำยาแอร์กลุ่ม CFC ซึ่งถูกบังคับให้เลิกทำการผลิตในหลายประเทศ ทำให้ราคาสูงขึ้นต่อเนื่องโดยตลอดและจะไม่สามารถหาซื้อได้ในอนาคต จึงต้องหาวิธีดูดเก็บน้ำยาแอร์จากระบบเพื่อนำกลับมาหมุนเวียนใช้งานใหม่
- ข้อกฎหมายและระเบียบบังคับ เกิดขึ้นจากความร่วมมือของประเทศต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทยในการร่วมลงนามในพิธีสารมอนทรีออล ซึ่งเป็นข้อตกลงที่นานาชาติจะร่วมมือกันในการพิทักษ์สิ่งแวดล้อมของโลก เนื่องจากสาร CFC เป็นน้ำยาแอร์ที่มีค่าการทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศสูงสุด จึงมีระเบียบข้อบังคับในการใช้สาร CFC เช่นการห้ามปล่อยสาร CFC ออกสู่บรรยากาศ การกำหนดแผนการเลิกผลิตและเลิกใช้สาร CFC สำหรับอุปกรณ์ที่ผลิตขึ้นใหม่ ส่นอุปกรณ์ที่ใช้สาร CFC อยู่เดิมได้รับการยกเว้น จึงต้องพยายามรักษาน้ำยาแอร์ที่มีอยู่เดิมให้สามารถนำกลับมาหมุนเวียนใช้งานให้ได้นานที่สุด ซึ่งวิธีหนึ่งก็คือการดูดน้ำยาแอร์เก็บไว้ในถังเก็บขณะตรวจซ่อมระบบ
- ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากน้ำยาแอร์ถ้าถูกปล่อยสู่บรรยากาสจะมีผลกระทบต่อปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของโลก เช่น สาร CFC จะทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศและมีส่วนทำให้เกิดภาวะเรือนกระจกซึ่งจะทำให้โลกร้อนขึ้น จึงต้องป้องกันการปล่อยน้ำยาแอร์ออกสู่บรรยากาศ โดยเฉพาะในการตรวจซ่อมหรือบริการระบบ ซึ่งสามารถเลือกใช้วิธีการเก็บน้ำยาแอร์ไว้ในระบบโดยวิธีการดูดเก็บไว้ภายในระบบ หรือเลือกวิธีการเก็บน้ำยาแอร์ไว้ในถึงเก็บภายนอกระบบ ก่อนนำน้ำยาแอร์กลับมาหมุนเวียนใช้งานใหม่