ขั้นตอนการทำสุญญากาศ ระบบเพื่อการตรวจรั่วของระบบแอร์
การตรวจรั่วระบบ
หลังจากการติดตั้งหรือถอดประกอบชิ้นส่วนใด ๆ ของระบบเครื่องทำความเย็นแล้ว จะต้องตรวจรั่วตามจุดต่อต่าง ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าจุดต่อเหล่านั้นไม่รั่ว ก่อนที่จะทำสุญญากาศและชาร์จสารความเย็นเข้าในระบบต่อไป วิธีการตรวจรั่วอาจแตกต่างไปตามชนิดของสารความเย็นที่อัดเข้าในระบบเพื่อใช้ในการตรวจรั่ว ซึ่งการตรวจรั่วมีหลัก 2 ประการคือ ทำสุญญากาศระบบเพื่อการตรวจรั่ว และเพิ่มความดันเข้าในระบบเพื่อการตรวจรั่ว
การทำสุญญากาศระบบเพื่อการตรวจรั่ว
ทำโดยเมื่อทำสุญญากาศระบบแล้ว ให้ปิดวาล์วเกจแมนิโฟลด์ทิ้งไว้ประมาณ 8-24 ชั่วโมงแล้วดูว่าเข็มของเกจสูงขึ้นหรือไม่
- ถ้าเข็มเกจสูงขึ้น แสดงว่าระบบรั่ว จำเป็นต้องหาจุดที่รั่วและแก้ไขใหม่
- ถ้าเข็มเกจไม่สูงขึ้น แสดงว่าระบบไม่รั่ว สามารถชาร์จสารความเย็นเข้าในระบบต่อไปได้
วิธีทำสุญญากาศระบบเพื่อการตรวจรั่วนี้ ใช้กับการปฏิบัติงานในเครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่แต่ไม่นิยมปฏิบัติกันในเครื่องปรับอากาศขนาดเล็ก เนื่องจากจะต้องหาจุดที่รั่วอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเสียเวลามาก
เพิ่มความดันเข้าในระบบเพื่อการตรวจรั่ว
ในการอัดแก๊สเพิ่มความดันเข้าในระบบนั้น อาจใช้แก๊สไนโตรเจนหรือฟรีออน (R-12, R-22) อัดเข้าไปก็ได้ ซึ่งการอัดแก๊สเข้าในระบบเพื่อการตรวจรั่ว กระทำเป็น 3 ขั้นตอน คือ
- อัดแก๊สเข้าในระบบประมาณ 20-30 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว เป็นการตรวจรั่วครั้งที่ 1
- อัดแก๊สเพิ่มเข้าในระบบจนถึง 70-100 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว เป็นการตรวจรั่วครั้งที่ 2
- ถ้าพบว่าไม่มีการรั่วทั้ง 2 ครั้ง ให้อัดแก๊สเพิ่มเข้าอีกจนถึง 200-250 ปอนด์ต่อตารางนิ้วและเป็นการตรวจสอบครั้งสุดท้าย (ถ้าใช้ไนโตรเจนต้องผ่านเรกูเลเตอร์)
การที่ต้องค่อย ๆ เพิ่มความดันในระบบถึง 3 ครั้ง ก็เพื่อความปลอดภัย เพราะถ้าอัดความดันเข้าในระบบมาก ๆ ถึง 200-250 ปอนด์ต่อตารางนิ้วทีเดียวเลย อาจระเบิดแตกและเกิดอันตรายได้
ข้อควรระวังในการตรวจรั่ว
การตรวจรั่วโดยหลักอัดความดันเข้าในระบบนั้น มีข้อควรระวังดังนี้
- ห้ามใช้แก๊สออกซิเจนอัดเข้าระบบเพื่อการตรวจรั่ว เพราะออกซิเจนเป็นแก๊สที่ช่วยให้ไฟติดและติดไฟ อาจเกิดการระเบิดขึ้นได้ง่าย เนื่องจากความดันในถังสูงมาก
- การใช้แก๊สไม่ว่าจะเป็นไนโตรเจนอัดเข้าในระบบ ต้องมีเกจเรกูเลเตอร์ (Gauge Regulator) เพื่อควบคุมแรงอัดไม่ให้อัดเข้าระบบโดยตรงมากจนเกินขีดอันตราย (250 ถึง 300 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว) มิฉะนั้นอาจทำให้เกิดระเบิดเป็นอันตรายได้ (สำหรับตู้เย็นไม่ควรเกิน 100 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว)
ข้อแนะนำในการตรวจรั่ว
ในการตรวจรั่วระบบมีข้อควรปฏิบัติดังนี้
- ตรวจดูด้วยสายตาว่าที่จุดต่อต่าง ๆ ของระบบมีครบน้ำมันจับอยู่ที่ใดบ้าง
- ต่อชุดเกจแมนิโฟลด์เข้ากับระบบ (ในกรณีที่มีวาล์วบริการ)
- ถ้าอ่านค่าของเกจได้ถึง 60-80 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว ให้ตรวจหาจุดรั่วด้วยเครื่องตรวจรั่ว (Leak Detector) ได้
- ถ้าเกจแสดงให้เห็นว่าไม่มีความดันในระบบ หรืออ่านค่าได้ต่ำมาก ให้เติมสารความเย็นเข้าไปอีก 1 ปอนด์ ในขณะที่หยุดระบบ ตามลำดับดังนี้
• ต่อสายชาร์จสารความเย็นจากท่อสารความเย็นเข้ากับรูกลางของเกจแมนิโฟลด์
• เปิดวาล์วด้านเกจวัดความดันทางสูงและวาล์วของท่อสารความเย็น
• สังเกตดูว่าสารความเย็นไหลเข้าในระบบ เกจจะแสดงค่าความดันที่เพิ่มขึ้น
• ถ้าจำเป็น ควรจุ่มท่อสารความเย็นลงในน้ำอุ่น เพื่อช่วยให้สารความเย็นไหลเข้าในระบบได้เร็วขึ้น
• ปิดวาล์วด้านเกจวัดความดันทางสูงและวาล์วของท่อสารความเย็น - ใช้เครื่องตรวจรั่ว ตรวจตามจุดต่อต่าง ๆ ของท่อทางเดินสารความเย็นในระบบทุกจุด และที่คอนเดนเซอร์ คอมเพรสเซอร์ ท่อพักสารความเย็นเหลว และอีวาพอเรเตอร์
- ในการตรวจอีวาพอเรเตอร์ ให้เดินพัดลงโบลว์เออร์ด้วยความเร็วต่ำที่สุด และสังเกตที่ความเย็นของลมส่ง ถ้าเย็นน้อยก็เป็นข้อยืนยันว่าสารความเย็นในระบบรั่ว
- ถ้าจุดต่อต่าง ๆ รั่วให้ขันให้แน่น ถ้าต้องเชื่อมต่อใหม่ให้ปล่อยสารความเย็นในระบบทิ้งก่อน แล้วจึงเชื่อมใหม่ และทำการตรวจรั่วซ้ำอีกครั้งหนึ่ง
- เมื่อต้องซ่อมชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่าง ๆ ของระบบ จำเป็นต้องปล่อยสารความเย็นในระบบทิ้งก่อนที่จะถอดชิ้นส่วนอุปกรณ์นั้น ๆ ออกซ่อม
- ถ้าพบว่าจุดรั่วของระบบพาเอาน้ำมันในระบบออกมามาก จะต้องตรวจระดับน้ำมันคอมเพรสเซอร์ หากน้อยเกินเกณฑ์ให้เติมน้ำมันเข้าไปอีก