การใช้วาล์วบริการ หรือ เซอร์วิสวาวล์ (Service Valve) ในระบบทำความเย็น
เปิดอ่าน 37,865
วาล์วบริการ (service valves) คืออุปกรณ์ที่ติดตั้งในระบบทำความเย็น ประกอบด้วยวาล์วบริการด้านความดันต่ำ (low side หรือ suction service valve) ติดตั้งอยู่ด้านความดันต่ำของระบบ เช่น ติดตั้งที่ทางเข้าคอมเพรสเซอร์ หรือติดตั้งอยู่กับท่อสารทำความเย็นด้านดูดที่ออกจากเครื่องระเหย และวาล์วบริการด้านความดันสูง (high side หรือ dischange service valve) ซึ่งจะติดตั้งอยู่ด้านความดันสูงของระบบ เช่น ติดตั้งที่ทางออกของคอมเพรสเซอร์ หรือติดตั้งอยู่กับท่อสารทำความเย็นเหลวที่ออกจากคอมเพรสเวอร์ ในการปฏิบัติงานเพื่อการบริการและตรวจวิเคราะห์ปัญหาในระบบทำความเย็น จะใช้เกจแมนิโฟลด์ต่อเข้ากับวาล์วบริการของระบบทำความเย็น
วาล์วบริการชนิดควบคุมด้วยวาล์วลูกศร
วาล์วบริการชนิดควบคุมด้วยวาล์วลูกศร (Schrader or automatic valve) มีโครงสร้างและการทำงานเช่นเดียวกับวาล์วสำหรับเติมลมยางรถยนต์ ในการใช้งานจะใช้ปลายสายน้ำยาด้านที่มีแกนกดเปิดวาล์วขันต่อเข้ากับวาล์วบริการชนิดลูกศร เมื่อวาล์วลูกศรถูกกดจะทำให้ภายในระบบถูกเปิดต่อถึงเกจแมนิโฟลด์ และเมื่อเสร็จสิ้นการบริการระบบ เพียงคลายสายน้ำยาออกจากวาล์วบริการ วาล์วลูกศรก็จะปิดช่องบริการด้วยสปริงลักษณะการทำงานของวาล์วบริการดังกล่าวสามารถปิด-เปิดได้สะดวกและไม่ต้องใช้เครื่องมืดใด ๆ ช่วย จึงมีความสะดวกในการใช้งาน แต่มีข้อเสียคือขณะขันหรือคลายสายน้ำยาจากวาล์วบริการจะมีน้ำยารั่วออกตามเกลียวทำให้สูญเสียน้ำยาและอาจเกิดอันตรายกับผู้ปฏิบัติงานได้ จึงควรปฏิบัติให้ถูกต้องโดยใช้มือกดให้ปลายสายแนบกับวาล์วลูกศรขณะคลายเกลียวที่ปลายสายน้ำยา เมื่อคลายเกลียวสุดแล้วจึงดึงให้ปลายสายหลุดจากวาล์วบริการในทันที
วาล์วบริการชนิดปรับด้วยมือ
วาล์วบริการชนิดปรับด้วยมือ (hand shutoff or manual valve) ทำงานได้โดยใช้ประแจสำหรับเปิดวาล์วบริการ (service-valve wrench) ซึ่งลักษณะเป็นหัวร่องสี่เหลี่ยม ปกติมีขนาดตั้งแต่ 1/4 x ¼ นิ้ว ใช้ขันปรับแกนวาล์วที่ติดตั้งอยู่ภายในตัววาล์วบริการ
วาล์วบริการชนิดปรับด้วยมืออาจเรียกชื่อแตกต่างกันตามลักษณะหรือรูปแบบของตัววาล์ว เช่น bracket valve หรือ three-way stop valve เป็นต้น เนื่องจากตัววาล์วทำด้วยเหล็กเหนียวหรือทองเหลือง ขณะใช้งานจึงต้องระวังไม่ใช้แรงมากเกินไปในการขันประแจปรับวาล์ว เพื่อป้องกันตัววาล์วเสียหาย ซึ่งจะเกิดการรั่วได้ในขณะใช้งาน
วาล์วบริการชนิดผสม
วาล์วบริการชนิดผสม เป็นวาล์วบริการชนิดปรับด้วยมือที่ติดตั้งวาล์วลูกศรเพิ่มเติมในช่องบริการ (service port) ข้อดีของวาล์วบริการชนิดนี้ คือ มีความสะดวกในการใช้งานเมื่อต้องการบริการระบบ เพราะสามารถกระทำผ่านช่องบริการโดยผ่านวาล์วลูกศรได้โดยตรง โดยไม่ต้องทำการปรับใด ๆ ที่แกนวาล์ว ส่วนแกนวาล์วที่ปรับด้วยมือจะใช้งานเมื่อต้องการทำการกักเก็บสารทำความเย็นไว้ในระบบ (pump down) โดยการปรับแกนวาล์วให้เลื่อนเข้าด้านในสุด ใช้ติดตั้งได้ทั้งด้านความดันต่ำและความดันสูง นิยมใช้ประแจหกเหลี่ยม (hex wrench) เป็นอุปกรณ์สำหรับปิด-เปิดแทนประแจเปิดวาล์วบริการชนิดแกนสี่เหลี่ยม
วาล์วบริการชนิดพิเศษ
วาล์วบริการชนิดพิเศษ (king valve) มีโครงสร้างและการทำงานเช่นเดียวกับวาล์วบริการชนิดปรับด้วยมือที่ด้านความดันต่ำและด้านความดันสูง แต่มีลักษณะเฉพาะคือติดตั้งอยู่ที่ท่อสารทำความเย็นเหลว ด้านที่ออกจากรีซีฟเวอร์ ใช้เฉพาะกับระบบทำความเย็นขนาดใหญ่ที่ติดตั้งรีซีฟเวอร์สำหรับสะสมสารทำความเย็นเหลว ทำหน้าที่ช่วยให้สามารถดูดเก็บสารทำความเย็นไว้ในระบบ (pump down) ได้ ถือเป็นอุปกรณ์ประกอบส่วนหนึ่งในระบบทำความเย็น
ข้อควรระวังในการใช้วาล์วบริการ
- การใช้วาล์วบริการแบบลูกศร หลังจากขันปลายสายน้ำยาเข้ากับวาล์วบริการแล้ว วาล์วลูกศรจะถูกกดให้เปิดทำให้สารทำความเย็นผ่านมายังเกจแมนิโฟลด์ จึงห้ามถอดปลายสายน้ำยาออกจากเกจแมนิโฟลด์เพื่อป้องกันการสูญเสียสารทำความเย็นและป้องกันอันตรายที่เกิดจากสารทำความเย็น
- การทำงานของวาล์บริการแบบลูกสร ขณะอยู่ในตำแหน่งเปิดจะมีช่องทางแคบ ๆ ให้น้ำยา อากาศหรือความชื้นผ่าน ดังนั้นขณะทำสุญญากาศจึงจำเป็นต้องใช้เวลามากกว่าวาล์วบริการชนิดปรับด้วยมือ เพื่อให้อากาศและความชื้นมีโอกาสออกจากระบบได้หมด
- ห้ามใช้ประแจปากตายหรือคีมล็อกในการขันแกนวาล์วบริการ เพราะจะทำให้แกนวาล์วซึ่งเป็นแกนสี่เหลี่ยมเสียรูปได้ ให้ใช้ประแจสำหรับเปิดวาล์วบริการโดยเฉพาะเท่านั้น
- ก่อนที่จะปรับแกนวาล์วเพื่อเลื่อนตำแหน่งให้คลายปลอกอัดปะเก็น (gland packing retainer) เล็กน้อย เพื่อให้สามารถปรับแกนวาล์วได้สะดวกขึ้น สำหรับปลอกอัดปะเก็นมีหน้าที่อัดปะเก็นให้รัดแน่นกับแกนวาล์ว เพื่อป้องกันสารทำความเย็นรั่วออกตามแกนวาล์ว ดังนั้นหลังจากการปรับแกนวาล์วเรียบร้อยแล้วให้ขันปลอกอัดปะเก็นให้แน่น
- ในกรณีที่วาล์วบริการด้านความดันสูงติดตั้งอยู่ที่ทางออกของคอมเพรสเซอร์ ขณะคอมเพรสเซอร์ทำงาน ห้ามปรับวาล์วบริการไปอยู่ในตำแหน่งกักเก็บสารทำความเย็นโดยเด็ดขาด เพราะในตำแหน่งนี้สารทำความเย็นที่ออกจากคอมเพรสเซอร์จะไม่สามารถส่งต่อไปเข้าคอนเดนเซอร์ได้ จะทำให้ความดันด้านสูงมีค่าสูงมากขนคอมเพรสเซอร์เสียหายได้