การรีเซ็ทอุณหภูมิน้ำเย็น (การเพิ่มอุณหภูมิน้ำเย็น)
สำหรับการถ่ายเทความร้อนอัตราหนึ่งๆ ถ้าเพิ่มอุณหภูมิน้ำเย็นที่ออกจากเครื่องทำเย็น อุณหภูมิของสารความเย็นก็ต้องเพิ่มขึ้นด้วย เมื่ออุณหภูมิของสารทำความเย็นเพิ่มความดัน Ps ก็จะมีค่าสูงขึ้น จากรูปที่ 4 เน้นเส้น 4-1 เปลี่ยนไปเป็น 4' 1' คือ ความร้อนที่สารทำความเย็นรับมีค่าเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกัน พลังงานที่ใช้ขับเครื่องอัดไอมีค่าลดลง จึงทำให้ประสิทธิภาพของ ชิลเลอร์สูงขึ้น
วิธีการควบคุมโดยปกติ พยายามที่จะรักษาอุณหภูมิน้ำเย็นที่ออกให้มีค่าคงที่ สำหรับ ชิลเลอร์แบบเซนตริฟิวกัลนั้น การควบคุมปริมาณความเย็นทำได้โดยการวัดอุณหภูมิน้ำเย็นที่ออกแล้ว สั่งการให้ชิลเลอร์พยายามรักษาอุณหภูมินี้ให้คงที่โดยใช้ Proportional Control โดยวิธีการเช่นนี้ เมื่อปริมาณความร้อนของอาคารน้อยลงทำให้อุณหภูมิน้ำเย็นที่ไหลกลับและอุณหภูมิน้ำเย็นที่ไหลออกมีค่าลดลง เทอร์โมสแตทวัดอุณหภูมิที่ลดลงนี้แล้วสั่งการให้คอนโทรลเลอร์ไปลดปริมาณการทำความเย็นของชิลเลอร์เพื่อให้เหมาะสม กับปริมาณความร้อนของอาคาร ผลที่เกิดขึ้นคือ อุณหภูมิน้ำเย็นที่ไหลออกในขณะที่มี Partial Load จะเท่ากับที่ Full Load ทำให้พลังงานที่ใช้ขับเครื่องอัดไอต่อตันความเย็นสูง ซึ่งเป็นการเปลืองพลังงาน ดังนั้นในภาวะแบบ Partial Load อุณหภูมิของน้ำเย็นที่ไหลออกไปเข้าแฟนคอยล์หรือเครื่องเป่าลมเย็น (Fan coil or air handling unit) นั้น ควรจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นได้และยังสามารถรักษาสภาวะที่เย็นสบายในอาคารได้ วิธีการจะช่วยให้ประหยัดพลังงานต่อตันความเย็นได้ สำหรับระบบการแปรเปลี่ยนอัตราน้ำเย็น (Variable water volume system, VWV) จะต้องระวังด้วยว่าค่าพลังงานทั้งหมดต่อตันได้ลดลงไม่ใช่ว่าไปลดพลังงานที่เครื่องอัดไอได้ แต่ไปเพิ่มพลังงานขึ้นที่ปั๊มเลยทำให้ค่าพลังงานทั้งหมดต่อตันกลับสูงขึ้น ทำให้เสียประโยชน์ไป ปัญหาเช่นนี้จะหลีกเลี่ยงได้ด้วยการประยุกต์ใช้ระบบ EMCS (Energy Management Control System) อย่างถูกต้อง ซึ่งคอมพิวเตอร์จะทำการคำนวณแล้ว สั่งการให้ระบบเดินอย่างมีประสิทธิภาพ