การทำสุญญากาศ และการตรวจหารอยรั่ว
เปิดอ่าน 31,391
การทำสุญญากาศในระบบ (evacuating the system) คือการใช้เครื่องทำสุญญากาศดูดอากาศและความชื้นออกจากระบบ เพื่อให้ภายในระบบเกิดเนื้อที่ว่างที่จะใช้บรรจุสารทำความเย็นและเพื่อไม่ให้มีอากาศหรือความชื้นปนอยู่ในระบบ ดังนั้นหลังจากเครื่องทำความเย็นหรือเครื่องปรับอากาศถูกประกอบขึ้นใหม่ มีการตรวจซ่อมหรือติดตั้งใหม่ ซึ่งการปฏิบัติดังกล่าวมีโอกาสที่จะทำให้อากาศและความชื้นเข้าไปในระบบได้ จึงต้องมีการทำสุญญากาศทุกครั้งก่อนเติมสารทำความเย็นเข้าในระบบ
เหตุผลและความจำเป็นที่ต้องทำสุญญากาศ
เนื่องจากในระบบทำความเย็นที่ผ่านการตรวจซ่อม ประกอบ หรือทำการติดตั้งใหม่ จะมีอากาศและความชื้นอยู่ภายในระบบ ซึ่งทั้งอากาศและความชื้นที่อยู่ในระบบมีผลต่อการทำงานดังนี้
1. ผลของอากาศที่ปนอยู่ในระบบ จะทำให้เนื้อที่ว่างที่จะบรรจุสารทำความเย็นเสียไป จึงไม่สามารถเติมสารทำความเย็นเข้าระบบได้เต็มตามกำหนด และเนื่องจากอากาศซึ่งประกอบด้วยไนโตรเจน (N2) และออกซิเจน (O2) ซึ่งเป็นแก๊สที่ไม่สามารถกลั่นตัวเป็นของเหลวได้ (noncondensable gas) ในสภาพความดันและอุณหภูมิทำงานปกติของระบบทำความเย็น ดังนั้นอากาศที่ปนอยู่ในระบบจะทำให้เกิดความดันสูงผิดปกติได้ในขณะทำงาน
2. ผลของความชื้น ซึ่งอาจจะปนอยู่ในระบบในลักษณะที่เป็นไอน้ำปนอยู่ในอากาศ หรืออยู่ในสภาวะของน้ำปนอยู่ภายในระบบ ซึ่งจะมีผลต่อการทำงานของระบบทำความเย็น คือ ความชื้นอาจกลายเป็นน้ำแข็งอุดตันที่ลิ้นลดความดันหรือท่อรูเข็มได้ นอกจากนี้ไฮโดรเจน (H2) จากน้ำจะทำปฏิกิริยากับคลอรีน (Cl) จากสารทำความเย็นเกิดเป็นกรดเกลือ (hydrochioric acid-HCl) กัดท่อทางเดินของสารทำความเย็นและอุปกรณ์ภายในระบบ โดยเฉพาะจะทำให้ฉนวนที่เคลือบขดลวดของมอเตอร์สำหรับขับคอมเพรสเซอร์ไหม้ได้
เครื่องทำสุญญากาศ (vacuum pump)
เครื่องทำสุญญากาศ คือเครื่องมือที่ใช้สำหรับดูดอากาศและความชื้นออกจากระบบผ่านเกจแมนิโฟลด์และวาล์วบริการที่ติดตั้งในระบบ ที่ใช้ทั่วไปมี 2 แบบ คือ
1. เครื่องทำสุญญากาศแบบมาตรฐานหรือชนิดแวคชั้นเดียว (standard vacuum pump-single stage) ใช้สำหรับเครื่องทำความเย็นขนาดเล็กทั่วไป ทำสุญญากาศได้ไม่ดีนัก จึงควรทำสุญญากาศโดยใช้วิธีทำซ้ำหลายครั้ง คือ ทำสุญญากาศจนความดันลดลงต่ำสุดเท่าที่จะสามารถทำได้ เติมสารทำความเย็นเข้าในระบบให้ได้ความดันประมาณ 0 psig หลังจากนั้นให้ทำสุญญากาศใหม่สลับจนครบ 3 ครั้งจึงจะได้สุญญากาศที่สมบูรณ์ เราเรียกการทำสุญญากาศวิธีนี้ว่า triple evacuating method
2. เครื่องทำสุญญากาศกำลังสูงหรือชนิดแวคสองชั้น (high vacuum pump-two stage) คือเครื่องที่ทำสุญญากาศได้ต่ำมาก (deep vacuum) คือทำสุญญากาศได้ถึง 500 ไมครอน (0.5 มม.ปรอท) หรือต่ำกว่าซึ่งต่ำพอที่จะทำให้ความชื้นในระบบเดือดกลายเป็นไอและถูกดูดออกจากระบบได้ จึงสามารถทำสุญญากาศได้โดยวิธีการทำเพียงครั้งเดียว (deep vacuum method)
ข้อสังเกต
1. ขณะเดินเครื่องทำสุญญากาศ ถ้าเข็มชี้ที่เกจสุญญากาศลดค่าจาก 0 นิ้วปรอท ถึง 30 นิ้วปรอททันที แสดงว่ามีการอุดตันที่สายน้ำยาหรือวาล์วบริการในระบบยังปิดอยู่ หรือกรณีที่วาล์วบริการในระบบเป็นชนิดวาล์วลูกศร อาจจะเกิดจาดการต่อสายน้ำยาสลับด้าน ให้ทำการตรวจสอบก่อน ตรงกันข้ามถ้าเดินเครื่องทำสุญญากาศเป็นเวลานาน แต่ไม่สามารถดึงความดันในระบบให้เป็นสุญญากาศได้ แสดงว่าอาจมีการรั่วที่ส่วนหนึ่งส่วนใด ให้ทำการตรวจหารอยรั่วก่อน
2. ในกรณีที่ในระบบมีความชื้นสูง ขณะทำสุญญากาศควรทำการอบหรือให้ความร้อนกับระบบโดยใช้หลอดไฟหรือขดลวดความร้อนช่วยเพิ่มอุณหภูมิเพื่อไล่ความชื้นในระบบ ซึ่งจะทำให้เราใช้เวลาในการทำสุญญากาศน้อยลง แต่ห้ามใช้เปลวไฟจากหัวเชื่อมเป็นตัวช่วยเพิ่มอุณหภูมิ