การติดตั้งท่อน้ำยาแอร์ ประเภทของท่อทางเดินสารความเย็น
ท่อทางเดินของสารความเย็น
ท่อทางเดินของสารความเย็น (Tubing) ที่ใช้ในเครื่องทำความเย็นและเครื่องปรับอากาศ แบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดคือ ท่อชนิดอ่อน (Soft) และท่อชนิดแข็ง (Hard) ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
ท่อชนิดอ่อน
ท่อชนิดอ่อน ตัวอย่างเช่น ท่อทองแดงอย่างอ่อน (Soft Copper) ท่ออะลูมิเนียม หรือท่อที่ทำจากสารอัลลอยด์พิเศษ สำหรับท่อทองแดงชนิดอ่อนโดยทั่วไปจำหน่ายเป็นขด มีความยาว 25 ฟุต หรือ 50 ฟุต มีขนาดต่าง ๆ กันตามขนาดที่วัดจากเส้นผ่านศูนย์กลางภายนอก (Outside Diameter; OD) เช่น ขนาด ¼ นิ้ว OD, ½ นิ้ว OD การคลี่ท่อออกจากขดเพื่อใช้งานควรวางท่อบนพื้นเรียบ ๆ กดปลายท่อกับพื้น แล้วหมุนขดท่อคลี่ออก โดยวิธีนี้จะได้ท่อที่ตรง เพราะถ้าดึงท่อออกจากขดข้าง ๆ จะทำให้ท่อบิด ไม่สามารถนำไปบานหรือตัดได้
ท่อชนิดแข็ง
ท่อชนิดแข็ง ตัวอย่างเช่น ท่อทองแดงอย่างแข็ง (Hard – Draw Copper) ท่อเหล็กสเตนเลส (Stainless Steel) หรือท่อชนิดอื่น ๆ ที่คล้ายนี้ ท่อชนิดแข็งนี้มีขนาดต่าง ๆ กันตามขนาดที่วัดจากเส้นผ่านศูนย์กลางภายนอกเช่นเดียวกับท่อชนิดอ่อน แต่เก็บเป็นเส้นยาวไม่เกิน 6 เมตร
การเลือกใช้ท่อทางเดินสารความเย็น มีหลักที่ควรคำนึงถึงดังนี้
- ชนิดของระบบทำความเย็นว่าเป็นระบบใด และใช้สารความเย็นอะไรเป็นตัวกลางในการทำความเย็น
- ราคาของท่อแต่ละชนิด
- แบบของการต่อท่อที่ใช้
ความรู้ในเรื่องของสารความเย็นที่ใช้ในระบบเป็นสิ่งสำคัญในการเลือกใช้ชนิดของท่อทางเดินสารความเย็น เพราะสารความเย็นบางชนิดทำปฏิกิริยาต่อท่อบางอย่าง เช่น สารความเย็นแอมโมเนียจะกัดท่อทองแดง แต่ใช้ได้ดีกับท่อเหล็กหรือท่ออะลูมิเนียม
ท่อทางเดินสารความเย็นต้องสะอาด ปราศจากฝุ่นละอองและความชื้นภายในท่อ ฉะนั้นท่อทางเดินสารความเย็นทุกชนิดต้องปิดปลาย (Sealed) ให้ดี เพื่อป้องกันฝุ่นละอองและความชื้นจากอากาศ
การหุ้มท่อสารความเย็น ท่อน้ำทิ้ง และสายไฟ
ในการเดินท่อสารความเย็นที่ต่ออยู่ระหว่างชุดคอยล์เย็น และชุดคอนเดนซิ่งยูนิต รวมถึงท่อน้ำทิ้ง และสายไฟที่ส่งไปยังชุดขับเคลื่อนคอมเพรสเซอร์ ต้องจัดวางให้เรียบร้อยสวยงาม
การใช้เทปพันท่อด้านนอกควรพันจากล่างขึ้นบน เพราะการพันจากล่างขึ้นบนจะเป็นการป้องกันมิให้น้ำย้อนเข้าข้างในได้ และการพันก็ไม่ควรพันให้แน่นจนเกินไป หากฉนวนไม่มีช่องว่างจะทำให้เกิดหยดน้ำได้
การเดินท่อน้ำทิ้งในช่วงผ่านรูผนัง ควรทำมุมให้ลาดเอียงลงเล็กน้อย ให้ท่ออยู่ต่ำกว่าระดับถาดรองน้ำทิ้ง เพื่อให้น้ำเดรนออกทิ้งภายนอกได้สะดวก