การตรวจสอบหารอยรั่ว (Leak Detecting)
เปิดอ่าน 23,647
การตรวจสอบเพื่อหารอยรั่วในระบบสามารถทำได้ 2 วิธี คือ

วิธีลดความดันในระบบให้ต่ำกว่าบรรยากาศ

- ใช้เครื่องทำสุญญากาศดูดอากาศออกจากระบบจนเกจสุญญากาศชี้ที่ 30 นิ้วปรอท
- ปิดวาล์วควบคุมที่เกจแมนิโฟลด์ทั้งสองด้าน หยุดเครื่องทำสุญญากาศ สังเกตดูเข็มชี้ที่สุญญากาศถ้าความดันสูงขึ้นแสดงว่ามีการรั่วในระบบ
- หาจุดที่รั่วโดยใช้วิธีเพิ่มความดันในระบบให้สูงกว่าบรรยากาศ
วิธีเพิ่มความดันในระบบให้สูงกว่าบรรยากาศ

- ใช้แก๊สเฉื่อย (inert gas) เช่น ไนโตรเจนหรือคาร์บอนไดออกไซด์อัดเข้าในระบบ โดยปรับผ่านวาล์วควบคุม (pressure regulator) ให้ได้ความดันประมาณ 150 psig โดยจะต้องติดตั้งวาล์วระบาย (relief valve) เมื่อความดันสูงเกิน โดยตั้งให้ระบายแก๊สออกที่ความดันประมาณ 175 psig เพื่อป้องกันอันตรายเนื่องจากความดันเข้าในระบบสูงเกิน เนื่องจากแก๊สทั้งสองถูกอัดมาด้วยความดันสูงมาก เช่น ไนโตรเจนจะมีความดันในถังถึง 2000 psig หรือคาร์บอนไดออกไซด์ในถังจะถูกอัดด้วยความดันประมาณ 800 psig หลังจากนั้นใช้น้ำสบู่ (soap solutions) ตรวจสอบตามข้อต่อหรือรอยเชื่อมต่าง ๆ ถาระบบรั่วจะทำให้สบู่เกิดฟอง
- ใช้สารทำความเย็น (refrigerant) เช่น R-12 หรือ R-22 อัดเข้าในระบบแทนไนโตรเจน แต่เนื่องจากสารทำความเย็นมีราคาแพงมาก จึงควรอัดเข้าในระบบให้ได้ความดันประมาณ 40 psig และใช้น้ำสบู่หรือเครื่องตรวจหารอยรั่วแบบตะเกียงแก๊ส (halide troch-leak detector) หรือเครื่องตรวจหารอยรั่วแบบอิเล็กทรอนิกส์ (electronic-leak detector) ตรวจหาตำแหน่งที่เกิดรอยรั่ว คือถ้ามีการรั่วจะทำให้เปลวไฟของตะเกียงแก๊สเปลี่ยนสี หรือทำให้ความถี่ของเสียงในเครื่องตรวจหารอยรั่วแบบอิเล็กทรอนิกส์เปลี่ยนไป
- ใช้แก๊สเฉื่อยผสมกับสารทำความเย็น โดยการใช้ไนโตรเจนหรือคาร์บอนไดออกไซด์อัดเข้าในระบบ ผสมสารทำความเย็นประมาณ 10% เพื่อความประหยัด เมื่อได้ความดันในระบบประมาณ 150 psig จึงใช้น้ำสบู่ เครื่องตรวจหารอยรั่วแบบตะเกียงแก๊สหรือแบบอิเล็กทรอนิกส์ก็สามารถหารอยรั่วได้ เนื่องจากมีสารทำความเย็นผสมอยู่ ถ้ามีการรั่วจะทำให้เปลวไฟเปลี่ยนสีหรือทำให้เกิดเสียงเตือนในเครื่องตรวจหารอยรั่วได้เช่นเดียวกัน