การจำแนกคอมเพรสเซอร์ตามวิธีการอัด (Compression Methods)
เปิดอ่าน 17,490
การจำแนกคอมเพรสเซอร์ตามวิธีการอัด แบ่งออกเป็นการอัดเชิงปริมาตร (volumetric compression) เช่น แบบลูกสูบ แบบโรตารี แบบก้นหอย แบบเกลียว และการอัดแบบใช้แรงเหวี่ยงหนีศูนย์กลาง (centrifugal compression) เช่น แบบอัดครั้งเดียว แบบอัดหลายครั้ง
- คอมเพรสเซอร์แบบลูกสูบ (reciprocating type) อาศัยการทำงานของเพลาข้อเหวี่ยง (crank shaft) ขับลูกสูบให้เกิดการดูดอัด มีใช้กับเครื่องทำความเย็นตั้งแต่ขนาดเล็กต่ำกว่าแรงม้าจนถึงขนาดใหญ่มากกว่า 100 แรงม้า เป็นแบบที่นิยมใช้งานมากที่สุด
- คอมเพรสเซอร์แบบโรตารี่ (rotary type) อาศัยการทำงานของลูกสูบหมุน (rotor) เป็นตัวดูดอัดน้ำยาโดยอาศัยเพลาขับ (rotor shaft) แทนเพลาข้อเหวี่ยง ทำให้ทำงานได้เงียบ มีความสั่นสะเทือนน้อย และมีขนาดเล็กกว่าแบบลูกสูบ แบ่งการทำงานออกเป็น 2 แบบ คือ แบบแผ่น blades หมุน (rotary blades) และแบบแผ่น blades อยู่กับที่ (stationary blades)
- คอมเพรสเซอร์แบบก้นหอย หรือแบบสโครล์ (scroll type) เป็นคอมเพรสเซอร์แบบใหม่ล่าสุดที่ถูกออกแบบมาใช้งานในระบบทำความเย็นแบบอัดไอ การทำงานจะประกอบด้วยชิ้นส่วนที่สำคัญ 2 ส่วน คือ ส่วนที่มีลักษณะเป็นก้นหอยอยู่กับที่และส่วนที่เคลื่อนที่ ซึ่งจะเคลื่อนที่ในลักษณะเยื้องศูนย์ โดยไม่มีการเคลื่อนที่ในลักษณะหมุนรอบแกน (not rotate) โดยความดันจะเพิ่มจากภายนอกและถูกอัดเพิ่มมากสุดเมื่ออยู่ที่แกนกลาง ลักษณะเทียบได้เหมือนกับการเคลื่อนไหวของพายุทอร์นาโด (tornado) ปัจจุบันนำมาใช้กับระบบปรับอากาศที่ใช้ในที่พักอาศัย ในสำนักงาน รวมทั้งระบบปรับอากาศในรถยนต์ เนื่องจากการทำงานมีการเคลื่อนไหวน้อยไม่ต้องใช้ลิ้นทางดูด-ทางส่ง จึงทำงานได้เรียบและเงียบกว่า ให้ประสิทธิภาพสูงกว่าแบบลูกสูบประมาณ 10-15%
- คอมเพรสเซอร์แบบสกรู (screw type) ทำงานโดยอาศัยสกรู 2 ตัว คือสกรูตัวเมีย (female rotor) และสกรูตัวผู้ (male rotor) โดยสกรูตัวเมียจะอาศัยช่องเกลียวเป็นที่เก็บน้ำยา ส่วนสกรูตัวผู้จะใช้สันเกลียวรีดน้ำยาออกตามแกนของสกรูทั้งสอง และเนื่องจากต้องใช้น้ำมันหล่อลื่นทำหน้าที่ป้องกันการรั่วระหว่างช่องว่าของเกลียวทั้งสองขณะทำงานจึงมีน้ำมันหล่อลื่นออกไปกับน้ำยาจำนวนมากที่ทางออกของคอมเพรสเซอร์แบบสกรูจึงต้องติดตั้งอุปกรณ์แยกน้ำมันหล่อลื่น (oil separator) ไว้ด้วยเสมอ
- คอมเพรสเซอร์แบบแรงเหวี่ยงหนีศูนย์กลาง (centrifugal type) ทำงานโดยอาศัยใบพัด (impeller) หมุนด้วยความเร็วรอบสูงประมาณ 3,000 ถึง 18,000 รอบ/นาที ใช้กับเครื่องทำความเย็นขนาดใหญ่ 250 ถึง 1,000 ตัน เนื่องจากทำงานที่ความดันต่ำมาก จึงเหมาะที่จะใช้กับระบบที่ใช้น้ำยาที่มีจุดเดือดสูง เช่น R-11, R-113 หรือ R-123 ซึ่งภายใต้ความดันบรรยากาศจะมีจุดเดือดที่ 74.8oF และ 82oF ตามลำดับ
ตัวอย่างการใช้งาน ได้แก่ระบบปรับอากาศที่ใช้ในห้างสรรพสินค้าหรืออาคารที่ทำการขนาดใหญ่จะใช้เป็นระบบซิลเลอร์ ใช้น้ำยา R-11 เป็นสารทำความเย็น คอมเพรสเซอร์เป็นแบบแรงเหวี่ยงหนีศูนย์กลาง โดยจะทำงานที่ความดันด้านดูดประมาณ 12-18 นิ้วปรอท (ต่ำกว่าบรรยากาศ) และความดันด้านอัดประมาณ 2-12 ปอนด์/ตารางนิ้ว ซึ่งเป็นความดันในการทำงานที่ต่ำมากเมื่อเปรียบเทียบกับคอมเพรสเซอร์แบบอื่น ๆ