โมดิฟายเครื่องทำน้ำร้อนไฟฟ้า แก้ปัญหาน้ำร้อน น้ำเย็น ติดๆ ดับๆ ไม่เป็นดั่งใจ
เครื่องทำน้ำร้อนไฟฟ้า แบบ Compact หรือ แบบที่ไม่ใช่หม้อต้มใหญ่ แตกต่างกับเครื่องทำน้ำอุ่นตรงที่มีความสามารถสูงขึ้นมาอีกหน่อย คือสามารถอั้นน้ำได้ ซึ่งโดยส่วนมากแล้วเครื่องทำน้ำร้อนไฟฟ้า แบบ Compact ผู้ใช้งานมักจะประสบปัญหา บางครั้งเปิดแล้วก็พอร้อนดีแต่พอประเดี๋ยวเครื่องก็ตัดกลายเป็นน้ำเย็น และจะต้องเปิดวาลว์น้ำร้อนจนสุดเครื่องถึงจะทำงาน แต่น้ำที่ออกมาจึงร้อนจี๋
สาเหตุน่าจะเกิดมาจากแรงดันทางฝั่งขาที่เข้าเครื่องน้ำร้อนไม่พอที่จะต้านแรงดันฝั่งด้านน้ำเย็น ส่งผลให้สวิทซ์แรงดันภายในตัวเครื่องทำน้ำร้อนมารวน ๆ โดยไม่สามารถตัดสินใจได้ว่า ควรจะทำงานดีหรือไม่ ซึ่งในการแก้ไขปัญหานี้หลาย ๆ คนอาจคิดแก้ไขโดยตัดการทำงานของสวิทซ์แรงดันออกไป เครื่องทำน้ำร้อนก็จะสามารถทำงานได้ตลอด แต่ข้อเสียที่ตามมาก็คือ ตำแหน่งของเครื่องทำน้ำร้อนจะอยู่สูงมาก ทำให้ไม่สะดวกในการเปิดปิด และอีกหนึ่งวิธีแก้ไขปัญหาก็คือ การโมดิฟายเครื่องทำน้ำร้อนใหม่ โดยทำทุกทางเพื่อที่จะเพิ่มแรงดันน้ำทางฝั่งขาเข้าเครื่องทำน้ำร้อนให้มากกว่า เพื่อที่จะไม่ให้สวิทซ์แรงดันในเครื่องทำน้ำร้อนสับสน ส่วนข้อเสียก็คือ ต้องโมเครื่องทำน้ำร้อน แต่ระบบทุกอย่างยังคงใช้งานได้ตามปกติ ไม่ต้องปีนขึ้นไปบิดสวิทซ์ใช้งาน และในการโมดิฟายเครื่องทำน้ำร้อนไฟฟ้า เพื่อแก้ไขปัญหาก็มีวิธีด้วยกันดังนี้
1. โฉมหน้าเครื่องทำน้ำร้อน ที่จะทำการโมดิฟายใหม่ในครั้งนี้
2. ขั้นตอนแรก ให้ทำการโยกเบรคเกอร์ที่ตู้คอนโทรล เพื่อที่จะตัดไฟเครื่องทำน้ำร้อนซะก่อน เพื่อความปลอดภัยของชีวิต
3. ต่อมาเป็นการลงมือโมดิฟายเครื่องทำน้ำร้อน โดยไม่สนใจประกันศูนย์ ให้ถอดเอา ชุด Filter ตัวเล็ก ๆ ที่ทำหน้าที่ในการคัดกรองเศษขยะชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่ปะปนมาในน้ำ เพื่อไม่ให้เข้าไปอุดตันในระบบ ซึ่งอุปกรณ์ชิ้นนี้เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดความต่างศักดิ์ของแรงดันทางฝั่งขาเข้ากับขาออกของเครื่องทำน้ำร้อน
4. จากนั้นให้ทำการตัดตัว Filter ออกไป โดยนำคีมมาตัดออกแล้วใช้คัตเตอร์แต่งขอบให้เรียบร้อย แล้วจับยัดคืนเข้าที่
5. ทำการตั้งระยะของการทำงานของสวิทซ์แรงดันใหม่ โดยตั้งให้ทำงานที่ระดับแรงดันขาเข้าน้อย ๆ ก็ได้ เริ่มจากมาดูกันว่าไส้ในจุดไหนคืออะไร
- ELB คือตัวทำหน้าที่ในการตัดไฟ เมื่อเกิดไฟฟ้ารั่วขณะกำลังใช้งาน เป็นระบบรักษาความปลอดภัยขั้นพื้นฐาน สำหรับตัวนี้ไม่ต้องทำอะไร ให้ปล่อยเอาไว้อย่างนั้น
- เซนเซอร์อุณหภูมิ คืออุปกรณ์ที่เกาะติดกับท่อน้ำทองแดงของทางฝั่งน้ำขาออก เพื่อใช้ในการตรวจสอบอุณหภูมิน้ำ หากเกิน 60 องศาเซลเซียส เซนเซอร์อุณหภูมิจะสั่งการให้แผงควบคุมทำการตัดไฟ (ตัดการทำงานของขวดลวดความร้อนเท่านั้น ไม่ได้ตัดให้เครื่องหยุดทำงาน) ซึ่งอุปกรณ์ตัวนี้จะทำงานสัมพันธ์กับสวิทซ์แรงดันน้ำของทางฝั่งขาเข้า ถือได้ว่าเป็นตัว Safety อีกหนึ่งตัว และถ้ากลไกทางฝั่งสวิทซ์แรงดันทำงานผิดพลาด คือแรงดันน้ำน้อยนิดแต่ดันสั่งการให้เปิดการทำงานของขดลวดความร้อน เซนเซอร์ตัวนี้จะสั่งตัดการทำงานของขดลวด ซึ่งตัวนี้ยังไม่ใช่จุดต้นตอที่แท้จริง แต่หากทำการโมชุดสวิทซ์แรงดันน้ำ ผลกระทบจะมาถึงเซนเซอร์ตัวนี้อย่างแน่นอน
- สวิทซ์แรงดันน้ำ คืออุปกรณ์ตัวต้นเหตุ ทำงานด้วยแรงดันของน้ำ เมื่อแรงดันน้ำขาออกน้อยกว่าขาเข้า จะทำการดันแกนให้ยื่นออกไปผลักไมโครสวิทซ์ เพื่อเปิดระบบไฟให้ขดลวดความร้อนทำงาน นั่นก็คือทำให้เครื่องน้ำร้อนทำงาน แต่หากเมื่อไหร่ก็ตามแรงดันน้ำทางฝั่งขาเข้าน้อยกว่าทางฝั่งขาออกหรือดันเท่ากันขึ้นมา ก็จะทำให้แกนที่ใช้ไปผลักไมโครสวิทซ์ หดกลับเข้าไป และหากโยกวาล์วน้ำเพื่อเปิดใช้งานน้ำ แบบ50/50 หรือน้ำร้อนกับน้ำเย็นอย่างละครึ่ง ก็จะเกิดการผลักกันของน้ำจากตัววาล์วผสมน้ำ ทำให้เกิดแรงต้านไปถึงเครื่องทำน้ำร้อน ส่งผลให้แรงดันน้ำจากทางฝั่งน้ำเย็นเป็นฝ่ายชนะ เพราะปริมาตรท่อของทางน้ำเย็นใหญ่กว่าขดลวดน้ำร้อน หรือบรรดาท่อทองแดงที่ลดขนาดลงมาจิ๋วเดียวในเครื่องทำน้ำร้อน ทำให้เครื่องไม่ทำงาน เมื่อวาล์วผสมน้ำ อยู่ในสถานะ 50/50
6. มาถึงขั้นตอนของการจัดการต้นตอ จะเห็นได้ว่าการทำงานเปิดปิดเครื่องทำน้ำร้อน จะแค่การกดติด-ปล่อยดับของไมโครสวิทซ์ และจะมีน๊อตกับสปริงอยู่หนึ่งชุดใช้สำหรับไขเพื่อปรับตั้ง เลือกระดับแรงดันน้ำ ที่ถูก Set ค่ามาจากโรงงานเอาไว้แล้ว โดยให้ตัดสปริงออกให้เหลืออยู่แค่นิดเดียว เพื่อที่จะไม่ให้ก้านของไมโครสวิทซ์ไปติดกับก้านของสวิทซ์แรงดันน้ำมากเกินไป ค่อย ๆ ตัดไปจนได้ระยะที่เหมาะสม โดยให้ความห่างเหลือไม่เกิน 1mm.
7. ต่อมาให้ประกอบฝาเครื่องกลับเข้าที่ให้เรียบร้อย แล้วไปโยกเบรกเกอร์ปล่อยให้ไฟฟ้าเข้าเครื่องทำน้ำร้อนได้
จากการทดสอบ พบว่าจากเดิมที่ไม่สามารถปรับอัตราส่วนการผสมของน้ำร้อน-น้ำเย็นได้เลย แต่หลังผ่านการโมดิฟายแล้ว สามารถปรับอัตราส่วนการผสมของน้ำร้อนน้ำเย็นได้บ้างประมาณ 30/70 แต่ก็ไม่ถึงกับ 50/50 และปัญหาในส่วนของเครื่องทำน้ำร้อนติด ๆ ดับ ๆ เดี๋ยวร้อยเดี๋ยวเย็น ที่เกิดจากการเปิดวาล์วมาทางน้ำร้อนไม่สุด (เพราะกลัวน้ำจะร้อนเกินไป) ก็หายเป็นปลิดทิ้ง สรุป… ผลการโมดิฟายเป็นที่น่าพึงพอใจ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการโมดิฟายเครื่องทำน้ำร้อน แม้จะดูเป็นวิธีง่าย ๆ แต่ก็ควรให้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญมาทำให้จะดีกว่าการลงมือทำด้วยตัวเอง โดยไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ และที่สำคัญห้ามลืมโยกเบรกเกอร์ก่อนลงมือจับเจ้าตัวเครื่องทำน้ำร้อนเด็ดขาด
แต่หากใครที่มีความกังวลว่าเครื่องทำน้ำร้อนจะหมดประกันล่ะก็ และอาจกังวลว่าตัวเองอาจมีฝีมือไม่พอในการปรับแต่งเครื่องทำน้ำร้อน ก็อาจจะต้องทนหงุดหงิดใจกันไปก่อน ซึ่งในการอาบน้ำอุ่นสลับน้ำเย็นก็มีข้อดีเหมือนกัน คือช่วยให้ระบบประสาทกับอุณหภูมิในร่างกายเกิดการสมดุลมากขึ้น ซึ่งช่วยให้สุขภาพดีขึ้น ไม่ป่วยเป็นหวัดได้ง่าย และช่วยให้ผิวพรรณเต่งตึงอีกด้วย
ขอบคุณที่มา : https://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=paa