เปิดแอร์ทิ้งไว้ยาวๆ เรื่อยๆ หรือ เปิดๆ ปิดๆ แบบไหนประหยัดไฟกว่ากัน

หลายคนมักกังวลว่าเปิดแอร์ทิ้งไว้จะทำให้กินไฟ เลยใช้วิธีเมื่ออากาศในห้องเริ่มเย็นก็จะปิดแอร์ทันที แล้วค่อยเปิดใหม่เมื่ออากาศในห้องเริ่มร้อนขึ้น เราจะมาไขข้อข้องใจกันว่าวิธีนี้ช่วยให้คุณประหยัดไฟได้จริงหรือ? แล้วมีวิธีอื่นอีกไหมที่ช่วยให้คุณประหยัดไฟเพิ่มขึ้น ติดตามดูเทคนิคการใช้งานเครื่องปรับอากาศให้ประหยัดไฟได้ในบทความนี้
ไขข้อข้องใจเปิดแอร์ทิ้งไว้ หรือเปิด ๆ ปิด ๆ แบบไหนประหยัดไฟกว่ากัน
การเปิดแอร์แบบเดี๋ยวเปิดเดี๋ยวปิด ไม่ได้ช่วยให้ประหยัดไฟ แต่ทำให้แอร์ทำงานหนักและกินไฟเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่าเนื่องจากเครื่องปรับอากาศจะทำงานหนักทุกครั้งที่เปิดเครื่อง เพื่อไล่ความร้อนและความชื้นในอากาศ จากนั้นก็จะทำความเย็นให้ได้ตามอุณหภูมิที่ตั้งไว้ และเมื่ออากาศกำลังเย็นได้ที่แต่เราดันไปปิดแอร์ เครื่องก็ต้องเริ่มทำงานใหม่ตั้งแต่ต้นทำให้กินไฟโดยใช่เหตุ ดังนั้นถ้าจะใช้งานเครื่องปรับอากาศก็ไม่ต้องกลัวว่าถ้าเปิดแอร์ทิ้งไว้จะกินไฟ เพราะเปิด ๆ ปิด ๆ กินไฟยิ่งกว่าอีก อธิบายได้คร่าวๆ ดังนี้
เปิดทิ้งไว้ยาวๆ:
- ถ้าคุณตั้งอุณหภูมิให้เหมาะสม (ประมาณ 25-27 องศาเซลเซียส) และแอร์สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ (เช่น ห้องมีฉนวนกันความร้อนดี ไม่รั่วไหลของอากาศเย็นมาก) การเปิดแอร์ทิ้งไว้ยาวๆ อาจจะประหยัดไฟมากกว่าการเปิดๆ ปิดๆ เพราะแอร์ไม่ต้องทำงานหนักซ้ำๆ เพื่อปรับอุณหภูมิในห้องใหม่ทุกครั้งที่เปิด
- เมื่อห้องถึงอุณหภูมิที่ตั้งไว้ คอมเพรสเซอร์ของแอร์จะหยุดทำงาน หรือทำงานเบาๆ เพื่อรักษาอุณหภูมิ ซึ่งใช้พลังงานน้อยกว่าการเริ่มทำงานใหม่เต็มที่
เปิดๆ ปิดๆ:
- การเปิดแอร์แล้วปิดเมื่อห้องเย็นและเปิดใหม่อีกครั้งหลังห้องร้อน อาจดูเหมือนช่วยประหยัดไฟ แต่ในความเป็นจริงแอร์จะต้องทำงานหนักขึ้นเมื่อเริ่มทำงานใหม่ เพราะคอมเพรสเซอร์ต้องทำงานเต็มที่เพื่อดึงอุณหภูมิลง ซึ่งอาจจะใช้พลังงานมากกว่าการรักษาอุณหภูมิอย่างต่อเนื่อง
- นอกจากนี้ การเปิดปิดแอร์บ่อยๆ อาจทำให้เครื่องปรับอากาศสึกหรอเร็วขึ้น
เคล็ดลับเปิดแอร์ให้ประหยัดไฟ
นอกจากการที่เราเลิกพฤติกรรมเดี๋ยวเปิดเดี๋ยวปิดแอร์แล้ว เราจะมาบอกเคล็ดลับดี ๆ ที่จะช่วยให้คุณเปิดแอร์ได้แบบประหยัดไฟมากยิ่งขึ้น
1. ไม่ลดอุณหภูมิให้ต่ำเกินไปตอนเปิดเครื่อง
เมื่อเปิดแอร์ก็หวังอยากให้อากาศเย็นทันใจ หลายคนจึงมักลดอุณหภูมิให้ต่ำ เช่น 18 องศา ซึ่งการลดอุณหภูมิให้ต่ำจนเกินไป จะทำให้เครื่องปรับอากาศทำงานหนัก ทางที่ดีควรรอสักนิด เดี๋ยวอากาศก็เย็นแล้ว หรืออาจเปิดพัดลมช่วยระบายความร้อนในกรณีที่อากาศในห้องร้อนจัด
2. ระบายความร้อนก่อนเปิดแอร์
ในห้องที่มีอากาศร้อนจัดก่อนเปิดแอร์ควรช่วยระบายความร้อนออกจากห้องก่อน ด้วยการเปิดหน้าต่างระบายอากาศ เปิดพัดลมไล่ความร้อนออกก่อน เพื่อไม่ให้ห้องร้อนจัดจากนั้นจึงค่อยเปิดแอร์ เพราะหากไม่ระบายความร้อนก่อนเปิดแอร์ก็จะทำให้เครื่องทำงานหนัก เปลืองไฟ แถมยังเย็นช้าอีกด้วย หรือถ้าห้องนั้นเป็นห้องที่มีแสงแดดส่องมากอาจหาม่านมาติดเพื่อช่วยกรองแสงแดดที่ส่องเข้ามา และช่วยให้ห้องเย็นลงได้อีกด้วย
3. หลีกเลี่ยงการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ปล่อยความร้อน
เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ปล่อยพลังงานความร้อน เช่น เตาไฟฟ้า เตารีด ฯลฯ อุปกรณ์พวกนี้จะมาเพิ่มความร้อนในห้อง ซึ่งจะทำให้แอร์ทำงานหนัก เพราะจะต้องทำอุณหภูมิให้เย็นลง และยังมีเครื่องใช้ไฟฟ้าบางชนิดอาจปล่อยกระแสความร้อนออกมาโดยที่เราไม่รู้ เช่น ตู้เย็น ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ปล่อยความร้อนในห้องแอร์ ไม่ให้แอร์ทำงานหนักจนกินไฟ
4. เปิดแอร์ที่อุณหภูมิ 26-27 องศา
ปกติเรามักจะเปิดแอร์ที่อุณหภูมิ 25 องศา แต่เราสามารถประหยัดไฟได้อีกด้วยการเปิดแอร์ที่อุณหภูมิ 26-27 องศา ซึ่งเป็นอุณหภูมิพอเหมาะที่เครื่องปรับอากาศจะได้ทำงานไม่หนักมาก หากวันไหนที่อากาศไม่ได้ร้อนจัด ให้เปิดแอร์ที่อุณหภูมิ 26-27 องศาก็เพียงพอแล้ว หรือหากรู้สึกร้อนอาจใช้พัดลมช่วยอีกแรงก็ได้
5. ทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศ
นอกจากการใช้งานเครื่องปรับอากาศที่ถูกต้องแล้ว แอร์ก็ต้องการการดูแลเช่นกัน ซึ่งเวลาที่เหมาะสมในการล้างใหญ่หรือการให้ช่างเข้ามาล้างแอร์จะอยู่ที่ระยะเวลาทุก ๆ 6 เดือน หรือในกรณีที่ใช้งานหนักก็อาจจะต้องล้างใหญ่ทุก ๆ 3 เดือน ส่วนการถอดล้างทำความสะอาดแผ่นกรอง ควรถอดล้างทำความสะอาดอย่างน้อยเดือนละครั้ง หากใช้งานแอร์หนักก็อาจจะปรับเป็น 2 สัปดาห์ครั้ง
6. ปิดแอร์ก่อนใช้งาน 30 นาที
หลังจากปิดแอร์ในห้องยังคงมีความเย็นไหลเวียนอยู่ จึงแนะนำให้ปิดแอร์ก่อนสัก 30 นาที หากรู้สึกว่าร้อนหรืออึดอัดให้เปิดพัดลมช่วย แต่ยังไม่ต้องเปิดหน้าต่างเพราะความเย็นจะหายออกไปหมด
สรุปแล้วการเปิดแอร์แบบเดี๋ยวปิดเดี๋ยวเปิด นอกจากจะไม่ช่วยให้ประหยัดไฟเพิ่มขึ้นแล้ว ยังทำให้เครื่องปรับอากาศทำงานหนักกว่าเดิมอีก ซึ่งอาจไม่ดีต่อการใช้งานในระยะยาวได้ ดังนั้นหากจะเปิดแอร์ก็ควรเปิดใช้ยาว ๆ ไปเลยแล้วค่อยปิดทีเดียวเมื่อเลิกใช้งาน และทำความเคล็ดลับที่เราได้แนะนำไปในข้างต้น ก็จะช่วยให้คุณประหยัดไฟได้มากขึ้นเลยทีเดียว